หลังจากครม.มีมติเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 เห็นชอบในหลักการให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท. หรือ AOT เข้าไปเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแล บริหารจัดการสนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์ และสนามบินกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ซึ่งทอท.จะเข้าไปดูแลและบริหารจัดการ 3 สนามบินนี้ในปี 2566 ภายใต้ระยะเวลา 30 ปีที่เช่าพื้นที่ต่อจากกรมธนารักษ์ และมีแผนจะใช้งบลงทุนร่วม 1 หมื่นล้านบาท ในการพัฒนาสนามบินต่อเนื่องจากการลงทุนของทย.
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท. หรือ AOT เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทอท.ไม่ได้หยิบชิ้นปลามันในการเข้าไปดูแลและบริหารจัดการ 3 สนามบินของทย. แต่รัฐบาลต้องการเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาโครงข่ายระบบสนามบินของประเทศในภาพรวม เพราะทอท.คุมดีมานต์ผู้โดยสารระหว่างประเทศสูงถึง 85% และการที่ไม่เปิดประมูลแต่ให้ทอท.เข้าไปบริหารจัดการ เพราะทอท.เป็นรัฐวิสาหกิจรัฐบาลสามารถสั่งได้
ดังนั้นการที่ทอท.จะเข้าไปบริหารจัดการ 3 สนามบินนี้ เราก็ทำตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดบทบาทของสนามบินเหล่านี้ โดยสนามบินอุดรธานี จากสนามบินระดับภาคเป็นสนามบินศูนย์กลางรอง สนามบินบุรีรัมย์ จากสนามบินระดับจังหวัด เป็นสนามบินระดับภาค ส่วนสนามบินกระบี่ เป็นสนามบินศูนย์กลางรอง
โดยทอท.จะลงทุนในการพัฒนาทั้ง 3 สนามบิน เพื่อให้ได้มาตรฐาน ICAO และรองรับผู้โดยสารต่างชาติที่ทอท.จะทำตลาดเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย ซึ่งเป็นการลงทุนต่อเนื่องจากแผนการลงทุนของทย. ในการขยายศักยภาพการรองรับของสนามบิน นายนิตินัย กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับตามแผนที่เสนอให้ครม.พิจารณาทอท.ได้วางแผนพัฒนาทั้ง 3 สนามบินนี้ ต่อเนื่องจากที่ทย.ได้พัฒนาไว้ ซึ่งทอท.ได้ประมาณการลงทุนในการพัฒนารวม 9,199.90 ล้านบาท (กรณีสนามบินพังงาเปิดให้บริการในปี 2574) หรือวงเงินลงทุนรวม 10,471.50 ล้านบาท (กรณีสนามบินพังงาไม่เปิดให้บริการ)
โดยแผนการพัฒนาสนามอุดรธานี ทอท.วางกรอบวงเงินลงทุน 3,523.90 ล้านบาท การพัฒนาจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะสั้น ลงทุน 2,194 ล้านบาท เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย และการรักษาความปลอดภัย ยกระดับให้สนามบินรองรับปริมาณจราจรทางอากาศที่จะเกิดขึ้นในปี 2576 ซึ่งจะมีการติดตั้งระบบ Smart Airport และระบบสำหรับเช็คอินด้วยตนเองอัตโนมัติ ระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ ตลอดอายุการใช้งาน 30 ปี เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารสาร 3.4 ล้านคนต่อปี เป็น 4.5 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2571
ระยะกลางลงทุน 1,049.40 ล้านบาท เป็นการพัฒนาที่ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาระยะสั้น เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 4.5 ล้านคนต่อปี เป็น 5.5 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2576 และยกระดับสนามบินอุดรธานี จาก Regional Airport ไปสู่ Secondary Hub Airport ที่มีปริมาณผู้โดยสารเกินกว่า 5 ล้านคนต่อปี ระยะยาว ลงทุน 280.50 ล้านบาท เป็นการพัฒนาที่ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาระยะกลาง เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 5.5 ล้านคนต่อปีเป็น6.4 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2579 ซึ่งสามารถรองรับปริมาณจราจรทางอากาศจนถึงปี 2583
สำหรับแผนพัฒนาสนามบินบุรีรัมย์ กรอบวงเงินลงทุน 460 ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ทย.อยู่ระหว่างพัฒนาอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2566 เมื่อเสร็จแล้วจะรองรับผู้โดยสารได้ 2.8 ล้านคนต่อปี สามารถรองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้จนถึงปี 2583 ดังนั้นทอท.เน้นแผนพัฒนาระยะสั้น ในการติดตั้งระบบสำหรับเช็คอินด้วยตนเองอัตโนมัติและระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ ตลอดอายุการใช้งาน 30 ปี
ส่วนแผนการพัฒนาสนามบินกระบี่ ในขณะนี้ทย.อยู่ระหว่างปรับปรุงสนามบินกระบี่ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2565 เมื่อแล้วเสร็จจะรับผู้โดยสารได้ 8 ล้านคนต่อปี ดังนั้นในระยะสั้นทอท.มีแผนลงทุน 3,808 ล้านบาทติดตั้งระบบ Smart Airport และระบบสำหรับเช็คอินด้วยตนเองอัตโนมัติ ระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ ตลอดอายุการใช้งาน 30 ปี
ส่วนระยะกลาง หรือภายในปี 2576 กรณีที่ 1 สนามบินพังงา เปิดให้บริการปี 2574 ลงทุน 1,049.40 ล้านบาท เป็นการพัฒนาที่ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาระยะสั้นที่ทย.ดำเนินการไว้ โดยทอท.จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่รองรับผู้โดยสารได้ 10 ล้านคนต่อปี กรณีที่ 2 สนามบินพังงาไม่เปิดให้บริการ ลงทุน2,679.60 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ รองรับผู้โดยสารได้ 12 ล้านคนต่อปี