นายไสว โชติกะสุภา ในฐานะประธานคณะกรรมการการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสนอขอรับความเห็นจากสภากรุงเทพมหานคร เรื่อง แนวทางการเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และการขอรับความเห็นจากสภากรุงเทพมหานคร เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า จากการประชุมคณะกรรมการการจราจรและขนส่ง เมื่อวันที่ 25 ต.ค.65 ที่ผ่านมา เบื้องต้นที่ประชุมมีมติพิจารณาไม่เห็นชอบในการชดเชยงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องจากการดำเนินการก่อสร้างของโครงการฯในช่วงส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นการดำเนินการที่ไม่ได้ใช้งบประมาณของกทม.ตั้งแต่แรกอีกทั้งยังติดปัญหาในเรื่องข้อกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถพิจารณาเห็นชอบทั้ง 2 ประเด็นตามที่ กทม.เสนอได้
หลังจากนี้จะรายงานความคิดเห็นดังกล่าวต่อประธานสภากทม.เพื่อพิจารณาขอความคิดเห็นเพิ่มเติม และเสนอต่อผู้ว่ากทม.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
นายไสว กล่าวต่อว่า ส่วนการจัดเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงห้าแยกลาดพร้าว-คูคต ในอัตราค่าโดยสาร 15 บาท เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่ากทม.ที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากสภากทม.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่นำเรื่องเสนอต่อสภากรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 นั้น เบื้องต้นที่ประชุมสภากทม.มีญัตติให้ถอนวาระและไม่พิจารณาเรื่องดังกล่าว เนื่องจากข้อมูลยังไม่ครบถ้วนโดยให้ความเห็นว่าควรให้คณะกรรมาธิการวิสามัญด้านการจราจรและขนส่ง เสนอรายงานต่อสภากทม.รับทราบก่อน
“ทั้งนี้ในที่ประชุมสภากทม.หลายท่านให้ความเห็นว่าไม่ใช่อำนาจของกทม.ที่เป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่เป็นอำนาจของคณะกรรมการตามมาตรา44 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้แต่งตั้ง ซึ่งเราจะต้องนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาอีกครั้ง”
ส่วนกรณีที่สภากทม.ไม่เห็นชอบการใช้เงินงบประมาณชดเชยและการจัดเก็บค่าโดยสารในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น มองว่าเป็นเพียงการเสนอเพื่อให้สภากทม.รับทราบเท่านั้น ซึ่งไม่ได้มีแค่เฉพาะการเก็บค่าโดยสาร แต่ยังมีเงินส่วนต่างในข้อสัญญาระหว่างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) และเอกชน ส่งผลให้ค่าจ้างเดินรถมีส่วนต่างจากค่าโดยสารที่จัดเก็บ ซึ่งจะต้องเสนอสภากทม.เพื่อนำงบประมาณมาชำระด้วย
"ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะไม่ได้เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการสัญญาตั้งแต่แรก ซึ่งกทม.จะต้องรับเรื่องดังกล่าวไปดำเนินการต่อ เนื่องจากการบริหารและใช้จ่ายงบประมาณต้องเสนอให้สภากทม.รับทราบอยู่แล้ว"