ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังโควิด-19 คลี่คลาย ไทยและมาเลเซียเปิดประเทศให้ประชาชนเดินทางไปมาหาสู่ ทำการค้า การท่องเที่ยวระหว่างกันได้อีกครั้ง ทำให้ด่านการค้าชายแดนกลับมาคึกคักอีกครั้ง รวมถึงที่ด่านวังประจัน อ.เมืองสตูล จ.สตูล ตรงข้ามบ้านวังเกลียน รัฐเปอร์ลิส ของประเทศมาเลเซีย ที่เปิดการซื้อขายสินค้าระหว่างคนไทยและชาวมาเลเซียกันอีกครั้ง ขณะที่ด้านวังเกลียนฝั่งมาเลเซีย ยังไม่เปิดร้านค้าแต่อย่างใด
ทั้งนี้ สถิติการค้าผ่านด่านวังประจัน ในเดือนก.ย. ปี 2563 มีการนำเข้า 259,247.76บาท ส่งออก 144,431 บาท เดือนเดียวกันปี 2564 นำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 337,999.35 บาท ขณะที่การส่งออกมีเพียง 45,500 บาท และเดือนเม.ย.ปี 2565 นี้ มีการนำเข้า 305,485.32 บาท ขณะที่ไม่มีการส่งออก
แต่เนื่องจากพื้นที่ด่านฯทั้งหมดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทะเลบัน การจะดำเนินการใดๆ ต้องได้รับอนุญาตจากทางอุทยานฯก่อน ส่วนปัญหาอุปสรรคการค้าชายแดนจุดนี้คือ ในฝั่งมาเลเซียต้องใช้เส้นทางคมนาคมผ่านภูเขาสูงชัน รถบรรทุกขนส่งสินค้าไม่สะดวกและมีต้นทุนสูง
ด้านดร.พิทักษ์สิทธิ์ ชีวรัฐพัฒน์ อดีตประธานหอการค้าสตูล เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจว่า” ภาคเอกชนสตูล ต้องการให้รัฐบาลเจรจากับทางการมาเลเซีย เพื่อร่วมมือกันพัฒนาเส้นทางระหว่างจังหวัดสตูล ที่บ้านคลองขุด อ.เมืองสตูล ทั้งเส้นทางถนนและขุดเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขา ระยะทางประมาณ 15-16 กิโลเมตร ไปเชื่อมกับรัฐเปอร์ลิส ซึ่งเป็นต้นทางถนนซูเปอร์ไฮเวย์เลียบฝั่งตะวันตกของมาเลเซียที่ต่อลงไปถึงสิงคโปร์
นายบุญชัย ฤกษ์ตุลา ผู้อำนวยการด่านศุลกากรวังประจัน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มูลค่าการค้าชายแดนที่ด่านวังประจัน มีมูลค่าเฉลี่ยประมาณปีละ 300 ล้านบาท โดยการค้าชายแดนที่ฟื้นกลับมานี้ ทางด่านมีโครงการเตรียมขยายพื้นที่ตรวจรับสินค้า เพื่อเพิ่มความสะดวกในการตรวจสินค้าส่งออกและนำเข้า
“หากโครงการนี้เกิดได้จะเป็นทางเชื่อม 3 ประเทศ ไทย (สตูล) มาเลเซีย (เปอร์ลิส) ไปถึงสิงคโปร์ ที่จะสร้างความคึกคักทางการคมนาคม การค้า การเดินทางท่องเที่ยว เชื่อมโยงวัฒนธรรม ให้เกิดความเจริญเติบโตร่วมกัน โดยไม่ต้องขนส่งสินค้าทางเรือ”
จังหวัดสตูลพยายามผลักดันการเชื่อมโยงกับรัฐเปอร์ลิสหลายโครงการมานานแล้ว แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ครั้งแรกปี 2536 เสนอตัดถนนจากสตูลที่บ้านตำมะลัง แล้วสร้างสะพานข้ามไปยังรัฐเปอร์ลิส ที่ต้องตัดผ่านป่าโกงกาง เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงพับไป
ครั้งที่ 2 ปี 2552 ผู้ว่าฯสตูลขณะนั้น เสนอสำรวจเส้นทางอีกสาน โดยเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาไปเชื่อมมาเลเซีย แต่แนวเส้นทางฝั่งมาเลเซียไปเจอแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ ทางมาเลเซียไม่ตกลงโครงการก็ตกไปอีก
ครั้งที่ 3 ปี 2559 ตั้งเรื่องศึกษาเส้นทางจากบ้านตำมะลัง ต.ตำมะลัง อ.เมืองสตูล สร้างเป็นสะพานข้ามไปเกาะปูยู และจากเกาะปูยูทำสะพานไปชายฝั่งรัฐเปอร์ลิส โดยมีกลุ่มทุนจีนให้ทุนศึกษาในเฟสแรก แต่พอขึ้นเฟส 2 ระงับการให้ทุนโครงการจึงพับไปอีก
ครั้งที่ 4 คือล่าสุดนี้ จะเริ่มสำรวจตามแนวทางคือ ทำเส้นทางถนนจากบ้านคลองขุด อ.เมืองสตูล(สนามบินทหารเก่า) ไปเชื่อมรัฐเปอร์ลิส โดยช่วงผ่านภูเขาต้องเจาะอุโมงค์ยาวประมาณ 4 กิโลเมตร
ด้านนายชัยพร เอ้งฉ้วน ประธานหอการค้าสตูล เปิดเผยว่า การค้ากับมาเลเซียผ่านท่าเรือตำมะลังมีข้อจำกัด เพราะร่องน้ำลึกเพียง 3 เมตร เรือสินค้าเข้าไม่ได้ ไม่เหมาะกับการขนส่ง เวลานี้ทำได้เพียงท่าเรือเฟอร์รีข้ามฟากกับมาเลเซีย หรือเรือท่องเที่ยวสตูลกับเกาะลังกาวีของมาเลเซีย หากจะให้เรือสินค้าเข้าได้ต้องขุดลอกตลอดร่องน้ำ
“ขณะที่การค้าชายแดนด่านวังประจันของไทย กับวังเกลียน รัฐเปอร์ลิส เส้นทางผ่านภูเขาสูง ไม่สะดวกในการขนส่งสินค้ามีน้ำหนัก ภาคเอกชนสตูล ทั้งหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และภาคราชการ จึงขอผลักดันการตัดถนนเชื่อมรัฐเปอร์ลิส หากทำได้เกิดประโยชน์กับทั้งไทยและมาเลเซียร่วมกัน”
ประธานหอการค้าจังหวัดสตูล กล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่ภาคเอกชนสตูลต้องการคือ ท่าอากาศยานสตูล โดยได้งบสำรวจพื้นที่ตั้งสนามบินแล้ว เบื้องต้นจะให้เป็นสนามบินขนาดรองรับ เครื่องบินแบบโบอิ้ง 737-800 หรือ แอร์บัส 320-200 ขึ้นลงได้ ให้รับเที่ยวบินในประเทศและระหว่างประเทศได้ จากที่ปัจจุบันคนสตูลต้องไปใช้สนามบินตรัง และสนามบินหาดใหญ่ในการเดินทาง และไม่มีเส้นทางรถไฟ
ธีมดี ภาคย์ธนชิต/รายงาน
หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,830 วันที่ 27-29 ตุลาคม พ.ศ.2565