รถไฟฟ้าสายสีเขียว ประชาชนนั่งฟรี ลากยาว

28 ต.ค. 2565 | 07:25 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2565 | 14:29 น.

รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย “หมอชิต-คูคต” ถึงทางตัน  ชัชชาติ ยัน เก็บค่าโดยสารไม่ได้จ่อลากยาว ชี้รัฐต้องอุดหนุนงบประมาณทุกสาย หากหาทางออกไม่ได้  ต้องโอนคืน รฟม. “บีทีเอส” หนุนกทม.หาทางออก  

 

ผลการประชุมสภากรุงเทพ มหานคร (สภากทม.) กรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา กลายเป็นปมขัดแย้ง ถึงขั้นเดินออก(วอล์กเอาต์) นอกห้องประชุม กรณี นายชัชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกทม. ในฐานะฝ่ายบริหาร เสนอญัตติขอรับความเห็นชอบจากสภากทม. ในสองประเด็น

 

ได้แก่ 1.แนวทางการเก็บค่าโดยสาร ส่วนต่อขยาย ที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ /หมอชิต-คูคต) และ 2.การขอรับความเห็น การดำเนินการ สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบ อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าว มีสมาชิกสภากทม. (ส.ก.) จากพรรคก้าวไกลทักท้วง พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า กทม.ไม่มีอำนาจหน้าที่ กำหนดอัตราค่าโดยสารรวมถึงไม่จำเป็นต้องนำเข้าสู่การพิจารณาสภากทม.

 

ตั้งกรรมการเคาะราคา

              

เนื่องจากเป็นอำนาจตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่3/2562 ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงการสายสีเขียว ตามคำสั่งข้อ 3 ที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานและปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 แต่ปรากฏว่า กทม.ยุค พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯกทม.

 

ไม่มีงบประมาณพอที่จะชำระหนี้จากการรับโอนงานโยธาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และหนี้เอกชนจากการจ้างเดินรถ การลงทุนระบบไฟฟ้าเคลื่องกล ส่วนต่อขยายสายสีเขียว คณะกรรมการฯ จึง เจรจากับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BTSC

 

หาทางออกขยายสัญญาสัมปทานออกไป 30 ปี จากปี 2572 เป็นปี 2602 คิดอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาท ตลอดสาย แลกกับภาระหนี้ หนึ่งแสนล้านบาท และส่งเรื่องขอความเห็นชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เห็นชอบเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ปรากฏว่าถูกคัดค้านเป็นวงกว้างโดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม

              

เมื่อนายชัชชาติเป็นผู้ว่าฯกทม. กระทรวงมหาดไทยเพียงให้กทม.พิจารณาว่าจะมีแนวทางแก้ไขกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือไม่ ซึ่งเรื่องยังคาราคาซังเพราะหาทางออกไม่ได้

 

ถกโอนสายสีเขียวคืนรฟม.

              

ด้านนายไสว โชติกะสุภา ในฐานะประธานคณะกรรมการการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร (กทม.)  เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการตั้งข้อสังเกตของ ส.ก. จากพรรคก้าวไกล ทักท้วง กรณีโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ กทม.บริหาร ตามคำสั่งคสช. มาตรา 44 ยอมรับว่า ที่ผ่านกระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาค่าโดยสารจริง แต่ไม่เคยพบการรายงานตัวเลขแต่อย่างใด

 

               อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการจราจรฯ จะหารือกับฝ่ายข้าราชการกทม.ที่เกี่ยวข้องกับการจราจรและขนส่งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยการตีความของสภากทม.คือไม่มีอำนาจหน้าที่อนุมัติ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและอาจส่อขัดกฎหมาย

 

เพราะเป็นอำนาจโดยตรงของผู้ว่าฯกทม. เท่านั้นที่จะตัดสินใจเรื่องการจัดเก็บค่าโดยสาร ช่วงห้าแยกลาดพร้าว-สะพานใหม่-คูคต ในอัตราค่าโดยสาร 15 บาท เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯกทม.ที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากสภากทม.

              

ส่วนการขอชดเชยงบประมาณเพื่อดำเนินการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งคณะกรรมการจราจรฯและสภากทม.ไม่เห็นด้วย เนื่องจากการดำเนินการก่อสร้างของโครงการฯในช่วงส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ

 

เป็นการดำเนินการที่ไม่ได้ใช้งบประมาณของ กทม. ตั้งแต่แรก อีกทั้งยังติดปัญหาในเรื่องข้อกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถพิจารณาเห็นชอบตามที่ กทม.เสนอได้ นายไสวอธิบายต่อว่า การโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวคืน รฟม. สามารถกระทำได้ เพราะยังไม่มีการลงนามการจ่ายหนี้ส่วนงานโยธาคืน แม้จะมีมติ ครม. ชุด คสช.โอนให้ กทม. ก็ตาม

 

ส่อเลื่อนยาวเก็บค่าโดยสาร

              

อย่างไรก็ตาม ต้องนับหนึ่งใหม่ และต้องเลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสารออกไปไม่มีกำหนด จนกว่าจะหาข้อยุติ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯกทม.จะตัดสินใจและหากถึงที่สุดแล้ว นายชัชชาติ มีทางออกหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเจรจา เพื่อขอโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวคืนรฟม. และ 2. หารือกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว

              

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ประชุมสภากทม.มีญัตติให้ถอนวาระและไม่พิจารณาเรื่องดังกล่าว เนื่องจากข้อมูลยังไม่ครบถ้วนโดยให้ความเห็นว่าควรให้คณะกรรมการวิสามัญการจราจรและขนส่ง เสนอรายงานต่อสภากทม. รับทราบก่อน

              

ทั้งนี้ในที่ประชุมสภากทม. หลายท่านให้ความเห็นว่าไม่ใช่อำนาจของกทม.ที่เป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร แต่เป็นอำนาจของคณะกรรมการตามมาตรา 44 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้แต่งตั้ง ซึ่งจะต้องนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาอีกครั้ง

              

“เราไม่ได้ขอสภากทม.อนุมัติการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงห้าแยกลาดพร้าว-คูคต จำนวน 15 บาท แต่เราต้องการแจ้งให้สภากทม.รับทราบ เพราะมีส่วนต่างที่ต้องชำระเพิ่มเติม หากต้องใช้งบประมาณก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภากทม.ด้วยทั้งนี้การจัดเก็บค่าโดยสารดังกล่าวต้องหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง”

              

 

ส่วนกรณีที่กทม.จะทำหนังสือตอบกลับความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อกระทรวงมหาดไทยนั้น ทางกทม.มีความคิดเห็นว่าการปฏิบัติต่างๆ ควรดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุน (PPP) โดยการคำนวณค่าโดยสารต่างๆ จะต้องมีความละเอียดและรอบคอบ

 

ทุกสายรัฐควรสนับสนุน

              

 

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟฟ้าทุกสายพบว่าทางภาครัฐมีส่วนช่วยสนับสนุนลงทุนค่าก่อสร้าง ขณะที่ด้านโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทางกทม.อยากให้ภาครัฐช่วยรับผิดชอบและลดภาระให้กทม. ท้ายที่สุดผู้ที่ต้องชำระคือประชาชน ซึ่งจะทำให้ค่าโดยสารมีราคาแพง

 

เพราะต้องชำระค่าโครงสร้างพื้นฐานงานโยธา ซึ่งการใช้รถไฟฟ้าถือว่ามีผลประโยชน์ทางอ้อม เช่น ลดมลภาวะ, ลดการจราจรติดขัด อีกทั้งภาครัฐยังได้ประโยชน์จากการเก็บภาษีความเจริญของเมืองที่มีการพัฒนาด้วย

              

ปัจจุบันกทม.ยังไม่สามารถชำระหนี้ส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ให้กับเอกชนได้ เนื่องจากส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ถูกรวมกับมูลค่าหนี้ในการขยายสัญญาสัมปทาน ซึ่งเรื่องนี้ยังอยู่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)

 

โดยปกติ กทม.จะมีการตั้งงบประมาณเพื่อชำระหนี้รายปีอยู่แล้ว ขณะที่ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เป็นเรื่องที่ยังไม่ได้นำเข้าที่สภากทม.รับทราบ เพราะต้องกลับไปดำเนินการข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนนำมาเสนอในครั้งถัดไป

              

“หากดูจากสถานการณ์รถไฟฟ้าสายสีเขียวในอนาคต เชื่อว่าดำเนินการต่อได้ เพราะเป็นเส้นทางที่ประชาชนใช้บริการมากที่สุด แต่ประเด็นคือเรามีรายได้เข้ามา แต่ถ้าค่าใช้จ่ายในการจ้างเดินรถมีราคาแพงมาก สุดท้ายก็ไม่เหลืออะไร ทำให้เราขาดทุน ส่งผลให้กลายเป็นภาระในอนาคต ถึงแม้ว่าโครงการฯจะยังไม่ได้ข้อสรุป เชื่อว่ายังคงเดินรถให้บริการประชาชนได้เหมือนเดิม หากภาครัฐมีการปลดเรื่องข้อกฎหมายตามมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะทำให้กทม.มีงบประมาณมาชำระหนี้ให้เอกชนได้บ้าง”

              

 

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาก่อนที่จะได้เป็นผู้ว่าฯกทม.คนส่วนใหญ่เล็งเห็นว่าไม่ควรต่อสัญญาสัมปทานหลายปี เพราะไม่สามารถทราบได้ว่าความเสี่ยงในอนาคตจะเป็นอย่างไร และประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดหรือไม่ หากดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุน (PPP) เชื่อว่ามีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยดูรายละเอียดการบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ดีขึ้น แลละสามารถตอบข้อสงสัยให้กับประชาชนได้

 

โอนคืนยึดขั้นตอนกฎหมาย

              

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแผนจะโอนทรัพย์สินและภาระทางการเงินในการบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียวคืนให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดูแลนั้น เบื้องต้นกทม. ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายและมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามหลักธรรมภิบาลก่อน

              

 

“หากกทม.จะดำเนินการโอนคืนทรัพย์สินและภาระทางการเงินรฟม.จริงๆจะต้องดำเนินการขอโอนไปตามขั้นตอนของกฎหมาย”

 

บีทีเอสหนุนกทม.

              

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือบีทีเอสซี กล่าวถึงกรณีที่สภากทม.ถอนวาระของผู้ว่าฯกทม.ในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ได้รับทราบในเรื่องนี้แล้ว ทางบีทีเอสคงต้องรอดูว่าผู้ว่าฯกทม.จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

              

 

“กรณีที่ผู้ว่าฯกทม.มีแผนจะดำเนินการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงห้าแยกลาดพร้าว-คูคต ในอัตรา 15 บาทตลอดสายนั้น เรามองว่าได้เปิดให้บริการประชาชนฟรีมาหลายปีแล้วก็ควรต้องจัดเก็บค่าโดยสาร แต่จะจัดเก็บค่าโดยสารเท่าไรนั้นเป็นเรื่องของกทม.เป็นผู้ดำเนินการ” 

รถไฟฟ้าสายสีเขียว  ประชาชนนั่งฟรี ลากยาว