" สามารถ" ไขปมหนี้รถไฟฟ้าสายเขียวผู้ว่าฯ ชัชชาติ ถึงทางตัน ?

27 ต.ค. 2565 | 00:54 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ต.ค. 2565 | 08:22 น.

“สามารถ ราชพลสิทธิ์ ”ไข ปมหนี้รถไฟฟ้าสายเขียวผู้ว่าฯ ชัชชาติ ถึงทางตัน ? เสนอ ค่าโดยสาร ส่วนต่อขยาย2 ราคา15บาทตลอดสาย รวมเส้นหลัก+ต่อขยาย 74 บาท -โยนหนี้งานโยธาให้รัฐสนับสนุน ทำสภากทม.เดือด

 

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า วานนี้ (26 ตุลาคม 2565) ผมใจจดใจจ่ออยู่กับการประชุมของสภา กทม. อยากรู้ว่าผู้ว่าฯ ชัชชาติจะเสนอให้เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเท่าไหร่ ? และจะแก้ปัญหาหนี้สินอย่างไร ? หลังจากที่รอมานาน แต่สุดท้ายก็เหลว !

 

1. ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เสนออะไรให้สภา กทม. พิจารณา ? โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ เสนอขอความเห็นจากสภา กทม. 2 ญัตติ ดังนี้

 

(1) อัตราค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต โดยเสนอให้เก็บ 15 บาทตลอดสาย ซึ่งจะทำให้ค่าโดยสารสูงสุด (รวมทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยาย) เท่ากับ 74 บาท หรือเก็บตามระยะทางตามสูตร 14+2X (ค่าแรกเข้า 14 บาท ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามระยะทาง 2 บาทต่อสถานี แต่ค่าโดยสารรวมทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยายไม่เกิน 59 บาท)

(2) การแก้ปัญหาหนี้สิน โดยเสนอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนค่าก่อสร้างงานโยธาของส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่ง กทม. รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเงินประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท

 

ถ้ารัฐบาลสามารถให้เงินสนับสนุนได้ ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติจะหาเอกชนมาร่วมลงทุนตาม พรบ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 แต่ถ้ารัฐบาลไม่สามารถให้เงินสนับสนุนได้ ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติก็ขอโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมด (ทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยาย) ให้รัฐบาลอย่างไรก็ตาม สมาชิกสภา กทม. ส่วนใหญ่เห็นว่าญัตติดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจของสภา กทม. จึงได้เสนอให้ถอนญัตติออกไป

2. มท. 1 ขอความเห็นจาก ผู้ว่าฯ ชัชชาติ

 

หลังจาก กทม. มีผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ และมีสภา กทม. ชุดใหม่ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือลงวันที่ 13 มิถุนายน 2565 ถึงผู้ว่าฯ กทม. ขอทราบแนวทางการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเสนอ ครม. ต่อไป

 

เหตุที่ มท. 1 ขอความเห็นจากผู้ว่าฯ กทม. ก็เพราะว่า ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 ผู้ว่าฯ กทม. (ในขณะนั้น) ได้มีหนังสือถึง มท. 1 ขอความเห็นชอบให้ขยายสัมปทานให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2572-2602

 

โดยมีเงื่อนไขให้ BTSC แบกภาระหนี้สินทั้งหมดที่ กทม. มีอยู่กับ BTSC และ รฟม. พร้อมกับแบ่งรายได้ให้ กทม. ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท อีกทั้ง กำหนดให้ BTSC เก็บค่าโดยสารในอัตรา 15-65 บาท (สูงสุดไม่เกิน 65 บาท)

 

3. ผู้ว่าฯ ชัชชาติ จะเสนอความเห็นอะไรให้ มท. 1 ?

 

เมื่อสภา กทม. โยนเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลับไปที่ฝ่ายบริหารของ กทม. ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ ควรพิจารณาทำหนังสือตอบ มท. 1 ไปตามแนวทางของท่านผู้ว่าฯ ดังกล่าวในข้อ 1 ข้างต้น ซึ่งผมมีความเห็นต่อแนวทางของท่านผู้ว่าฯ ดังนี้

 

(1) อัตราค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติจะเก็บ 15 บาทตลอดสาย ซึ่งจะทำให้ค่าโดยสารสูงสุดเท่ากับ 74 บาท หรือจะเก็บตามระยะทาง แต่ค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 59 บาท ก็ได้ แต่ท่านต้องยอมรับความจริงว่าไม่สามารถทำให้ค่าโดยสารถูกลงตามที่ท่านได้เคยหาเสียงไว้ว่าจะเก็บ 25-30 บาท ได้

 

(2) หากรัฐบาลช่วยสนับสนุนค่างานโยธาส่วนต่อขยายที่ 2 ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติจะเปิดประมูลใหม่หาเอกชนมารับสัมปทานเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ตาม พรบ. ร่วมทุน 2562 ผมขอบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่มีเอกชนรายใดสนใจมารับสัมปทานแน่ เพราะจะขาดทุน ! หากจะเปิดประมูลใหม่ทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยายหลังสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะยังติดสัญญาจ้าง BTSC ให้เดินรถจนถึงปี 2585

 

(3) หากรัฐบาลไม่ช่วยสนับสนุนค่างานโยธาส่วนต่อขยายที่ 2 ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติจะโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมดให้รัฐบาล ผมเห็นว่าแนวทางนี้ไม่ใช่เป็นการ “แก้ปัญหา” แต่เป็นการ “โยนปัญหาให้พ้นตัว” ถ้ารัฐบาลยอมรับข้อเสนอนี้ ก็น่าจะรับมาตั้งแต่สมัยท่านผู้ว่าฯ อัศวินแล้ว

 

จะไม่ทำให้ปัญหาคาราคาซังมาจนถึงปัจจุบันนี้ และที่สำคัญ การโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมดให้รัฐบาลจะเป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจของบุคลากร กทม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรในสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ที่ได้พยายามปลุกปั้นโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจนสำเร็จเป็นรถไฟฟ้าโครงการแรกของประเทศไทย

 

4. ผู้ว่าฯ ชัชชาติถึง “ทางตัน” ?

 

 

เนื่องจากท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติตั้งธงไว้ตั้งแต่ตอนหาเสียงแล้วว่าจะไม่ขยายสัมปทานให้ BTSC จึงทำให้ท่านต้องเดินมาถึงทางตันในวันนี้ มีทางเดียวเท่านั้นที่ท่านจะผ่าทางตันได้ก็คือเปิดใจให้กว้าง ดูข้อดีข้อเสียในการขยายสัมปทานให้ BTSC ถ้าเห็นว่ามีข้อดีมากกว่าก็ตัดสินใจขยายสัมปทานให้ BTSC ทางเลือกอื่นไม่มีจริงๆ

 

ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดี ไม่อยากให้ กทม. มีหนี้สินพอกพูนขึ้นทุกวัน

\" สามารถ\" ไขปมหนี้รถไฟฟ้าสายเขียวผู้ว่าฯ ชัชชาติ ถึงทางตัน ?