“THAI FIGHT” (ไทยไฟท์) ไม่เพียงสร้างชื่อใน เวทีแข่งขันมวยไทย จนโด่งดังทั้งในไทย-ต่างประเทศ ทุบสถิติผู้เข้าชมมวยไทยในสนามมากกว่า 8 หมื่นคน มีผู้ชมทั้งในประเทศไม่ตํ่ากว่า 100 ล้านคน ครองเรตติ้งอันดับหนึ่งการจัดแข่งขันมวยไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์มาแล้ว แต่ยังลงทุนต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับมวยไทย ล่าสุดยังมีแผนจะนำบริษัทฯเข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ในปี 66 เสริมแกร่งธุรกิจ นายนพพร วาทิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยไฟท์ จำกัด มีคำตอบ
รุกธุรกิจใหม่จากมวยไทย
จุดเริ่มต้นของ “THAI FIGHT” (ไทยไฟท์) เริ่มจากการจัดการแข่งขันมวยไทย สร้างแบรนด์จนเป็นที่ยอมรับ และแม้ในช่วง 3 ปีที่จะเกิดโควิด-19 จะส่งผลให้ธุรกิจอีเว้นท์มวยไทย ติดหล่ม แต่ก็ยังผ่านมาได้จากแรงสนับสนุนของสปอนเซอร์
นายนพพร เล่าว่า 3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจอีเว้นท์มวยไทยติดหล่มจากโควิด-19 ทั้งโดนสั่งให้หยุดจัดการชกทั้งหมด บางช่วงก็จะโดนควบคุมจำนวนผู้เข้าชมให้อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ควบ คุมโรค จากที่ทุกปีจะต้องจัดมวย 8 ไฟท์ เฉพาะรายได้จากการจัดอีเว้นท์มวยก็จะอยู่ที่ราว 100 ล้านบาทต่อปี เหลือจัดไทยไฟท์รอบพิเศษบ้างเพียง 2-3 ไฟท์ต่อปี แต่รายได้ของไทยไฟท์ก็ยังคงมีรายรับที่ได้จากสปอนเซอร์ ที่ยังคงเชื่อมั่นไทยไฟท์ และไม่ถอนตัว ซึ่งทำให้เรายืนอยู่ได้ แม้ไม่สะท้อนผลประกอบการที่แท้จริงก็ตาม
โชคดีที่ดีเราเป็นเจ้าของคอนเทนต์ ที่สำคัญเป็นรายการเดียวที่มีถ้วยคิงคัพและควีนคัพ ซึ่งชกแค่ 8 ไฟท์ สปอนเซอร์สนับสนุนตลอด ทำให้ผ่านโควิดไปได้ แม้แต่หลังโควิดสปอนเซอร์ก็ให้เท่าเดิม แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องใช้ความพยายามในการบริหารจัดการไฟท์ต่างๆ เพื่อให้ครบตามสัญญา
ไม่เพียงฝ่าวิกฤตโควิดมาได้เท่านั้น ไทยไฟท์ ก็อาศัยความแข็งแกร่งของแบรนด์ในการขยายการลงทุนใหม่ๆ ในธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ล่าสุดเพิ่งจะเปิดตัว 2 โปรเจ็กต์ใหญ่ ลงทุนร่วม 2,000 ล้านบาท นั่นก็คือโครงการ “THAI FIGHT HOTEL” โรงแรมธีมมวยไทย ขนาด 50 ห้อง บนเกาะสมุย จ. สุราษฎร์ธานี ซึ่งที่นี่ยังมีบริการด้านต่างๆ อาทิ “THAI FIGHT PHYSPORTS” สถานที่ฝึกสอนมวยไทย โดยนักมวยไทยชื่อดังของ “THAI FIGHT” สามารถมาเรียนมวยตัวต่อตัวกับนักมวยไทยไฟท์ เป็นสิทธิพิเศษหนึ่งเดียวในโลก
อาทิ แสนชัย, กิตติ, ป.ต.ท., เต็งหนึ่ง, ไทรโยค, สุดสาคร, น้องโอ, พยัคฆ์สมุย และโครงการ “ไทยไฟท์ X ไบเทค บางนา” กรุงเทพฯซึ่งเป็นฮอลล์จัดการแข่งขันมวยไทยที่ดีและทันสมัยที่สุดในโลก รวมทั้งยังเป็นศูนย์รวมกีฬาทุกประเภทถึงกว่า 55 ประเภทกีฬา มารวมไว้ที่ ไบเทค บางนา
จ่อเข้าระดมทุนใน ตลท.
ทั้งสเต็ปต่อไปคือมีเป้าหมายที่ผลักดันให้บริษัทไทยไฟท์ เป็นบริษัทโฮลดิ้ง โดยเตรียมยื่นข้อมูลเสนอขายหลักทรัพย์ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ช่วงปลายปี 2566 พร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในปี 2567 วางเป้าหมายระดมทุนกว่า 3,000 ล้านบาท ในการสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ
ปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 500 ล้านบาท/ปี โดยมีการจัดพอร์ตการลงทุนธุรกิจในเครือจะแบ่งเป็น 4 ประเภท เพื่อเตรียมเข้าตลาดหุ้น (Spin off) ได้แก่ “THAI FIGHT event” กลุ่มการแข่งขันชกมวย, “THAI FIGHT asset” โรงแรม และ โรงยิม “THAI FIGHT beverage” เครื่องดื่ม เช่น Sport drink และ “THAI FIGHT ออนไลน์” เช่น การขายลิขสิทธิ์ต่างๆ โดยธุรกิจต่างๆ หากมีศักยภาพ ก็พร้อมผลักดันเข้าตลาดหุ้น (Spin off) ในลำดับต่อไป
สำหรับแผนธุรกิจในช่วง 5 ปี ต่อจากนี้ ผมมองว่าตลาดการท่องเที่ยวของประเทศไทยจะเป็นเบอร์ 1 มีความยิ่งใหญ่และจะมีผู้คนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวจีน แม้จะขณะนี้จีนจะยังคงนโยบาย Zero Covid ก็ตาม แต่ก็ยังมองตลาดชาวจีนจะคึกคักในอนาคต ดังนั้นแผนของ THAI FIGHT คือการสร้างคอนเทนต์มีที่เอกลักษณ์เฉพาะ มีคุณค่าและมีความแตกต่าง
อีกทั้งการแตกไลน์ธุรกิจในเครือทั้ง การแข่งชกมวย- โรงแรม-โรงยิม-เครื่องดื่ม-ออนไลน์ จะถูกนำมาสร้างรายได้ และทยอยเข้าตลาดหลักทรัพย์ต่อไป พร้อมทั้งวางแผนร่วมทุนกับแบรนด์ยักษ์ของประเทศ ขณะที่แผนการลงทุนในต่างประเทศ ไทยไฟท์ วางแผนร่วมกับจีนและตะวันออกกลาง (อาบูดาบี)
ทั้งไทยไฟท์ ตั้งเป้าบุกหนัก ปี 66 จาก อีเวนท์มวยไทยไฟท์ สู่ธุรกิจเอสเสจ “โรงแรม(ทั่วประเทศ และก้าวไปสู่เชนทั่วโลก ที่จะไปพร้อมๆ กับอาหารไทยโบราณ ด้วยคอนเซปต์ Thaifight-Thaifood )-ยิมฯทั่วประเทศ สินค้า MERCHANDISE หลากหลายผลิตภัณฑ์” เชื่อมโยงธุรกิจ ปั้นยืน 1 แบรนด์ ไทยไฟท์ ก้าวสู่ตลาดโลก ตั้งเป้ารายได้ปี 66 สู่ 1,000 ล้านบาท โดยคาดหวังว่าเราต้องปักหมุดโรงแรมให้ได้ในลอนดอน ส่วนโรงยิมมีแผนขยายไปสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าการขยายโรงยิมจะทำได้รวดเร็วกว่าโรงแรม
ทั้งหมดเป็นทิศทางการขยายธุรกิจของไทยไฟท์ ในการสร้างแบรนด์ THAI FIGHT เพื่อต่อยอดธุรกิจ ที่ไม่ใช่แค่การจัดอีเว้นท์มวยไทยอย่างในอดีต