นักวิจัยไทย สร้างชื่อ คว้ารางวัล "Grand Prize"   ที่ กรุงโซล

20 พ.ย. 2565 | 08:43 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2565 | 15:58 น.

นักวิจัยไทย สร้างชื่อเสียง  คว้ารางวัล Grand Prize   ที่ กรุงโซล "ณัฐ​พล​ ฤกษ์เกษมสันต์" อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี สจล.จากงาน SEOUL INTERNATIONAL INVENTION FAIR – SIIF 2022

 

 

 

 

 การจัดงาน “SIIF 2022” เวทีระดับนานาชาติที่เปิดโอกาสให้นักประดิษฐ์นักวิจัย จากนานาประเทศได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดงานวิจัยให้นำไปใช้สร้างประโยชน์ในมิติต่างๆได้อย่างมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลที่จัดขึ้น กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา

 

ได้มีพิธีมอบรางวัล โดย ผศ.ดร.ณัฐ​พล​ ฤกษ์เกษมสันต์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หนึ่งในนักวิจัยจากประเทศไทย​ได้รับรางวัลใหญ่ Grand Prize ซึ่ง​เป็นรางวัล​สูงสุดของเวทีประกวดจากผลงานวิจัย Mobile Negative Pressure ICU for Hospital or Field Hospital

ผศ.ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันต์

สำหรับผลงานที่ผ่านมา  ผศ.ดร.ณัฐ​พล  ได้ศึกษาวิจัย ห้องไอซียูความดันลบเคลื่อนที่ระบบอัจฉริยะ ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุม  สามารถปรับความดันในห้องได้โดยอัตโนมัติ  ใช้งานสะดวกยกไปติดตั้งได้ทั้งในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม

 

ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จากผู้ป่วยได้ดี โดยได้รับทุนมาจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  และได้เปิดตัวไปก่อนหน้านี้

 

 

โดยระบุว่า หลังจากที่ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติในการพัฒนานวัตกรรมห้องไอซียูความดันลบเคลื่อนที่จนเป็นผลสำเร็จ  จึงได้มีการพัฒนาต่อยอดการทำงานของห้องไอซียูความดันลบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสนับสนุนการทำงานของแพทย์และพยาบาลให้เกิดความสะดวก

 

ได้มีการพัฒนาระบบควบคุมภายในให้มีความทันสมัย คือเป็นระบบอัจฉริยะสามารถทำงานเองได้โดยอัตโนมัติ เช่น สามารถปรับเปลี่ยนแรงดันภายในห้องไปตามการใช้งาน ในกรณีทีมีการขนส่งผู้ป่วยเข้ามาในห้อง เมื่อมีการเปิด-ปิดประตู คอมพิวเตอร์จะควบคุมและปรับแรงดันในห้องผู้ป่วยและห้องควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติ 

 

นอกจากนี้ยังสามารถแจ้งเตือนได้เมื่อผู้ใช้งานลืมเปิดประตูทิ้งไว้ โดยระบบควบคุมนี้สามารถเชื่อมต่อและรายงานผลของห้องผ่านมอนิเตอร์หน้าห้อง นอกจากนี้ยังสามารถรายงานประสิทธิภาพการใช้งานของห้องไอซียูแต่ละยูนิตได้ด้วย เช่น ประสิทธิภาพของเครื่องกรองอากาศ

 

เพื่อให้ผู้ดูแลทราบว่าจะถึงเวลาเปลี่ยนแผ่นกรองอากาศหรือยัง ระบบกรองมีปัญหาหรือไม่ นอกจากนี้ห้องยังมีความสามารถอื่นๆ เมื่อมีการเชื่อมต่อระบบห้องเข้ากับระบบอินเตอร์เน็ต เช่น เมื่อใช้ร่วมกับเตียงความดันลบที่คิดค้นโดยนักวิจัย จะสามารถบอกตำแหน่งของเตียงที่ไปรับคนไข้ได้

 

รับรางวัล GRAND PRAIZE ที่กรุงโซล

 

สำหรับห้องประสิทธิภาพของไอซียูความดันลบเคลื่อนที่เป็นห้องสำเร็จรูป ขนาด 3 × 6.5 เมตร / ยูนิต พื้นที่ภายในแบ่งออกเป็น 2 ห้อง คือ ห้องสำหรับผู้ป่วย และ ห้องสำหรับผู้ดูแล  มีระบบคอมพิวเตอร์คอยควบคุม แต่ละห้องมีระบบปรับอากาศ มีระบบควบคุมแรงดันอากาศอัตโนมัติ

 

เพื่อให้ห้องทั้งผู้ป่วยและห้องเฉลียง มีความดันที่เหมาะสมและสัมพันธ์กันตลอดเวลา ทั้งในกรณีที่มีการเปิดปิดประตูในแต่ละห้อง หรือมีการเปลี่ยนแปลงแรงดันภายในห้องจากกรณีอื่น ๆ มีระบบดูดอากาศ และกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง  เพื่อมั่นใจได้ว่าอากาศภายในห้องที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนจะไม่ไหลออกมาสู่ภายนอก 

 

ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าอากาศที่ระบายออกมาสู่ภายนอกจะไม่สร้างปัญหาให้กับชุมชนโดยรอบห้องผู้ป่วยความดันลบแบบมีความเหมาะสมในการนำไปใช้กับผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินทางหายใจ เช่น ไวรัสโควิด-19 

 

ที่มีอาการค่อนข้างหนัก จากระดับเหลืองไปจนเกือบสีแดง ห้องไอซียูความดันลบเคลื่อนที่จึงสามารถตอบสนองความต้องการใช้งานและรองรับกับมาตรการป้องกันและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด–19 ได้

 

ปัจจุบันได้มีการผลิตห้องไอซียูและนำไปติดตั้งที่โรงพยาบาลและโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามหลายแห่งในกรุงเทพมหานครและปริมลฑล เช่น  โรงพยายาบาลสนามบุษราคัม  โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และจะติดตั้งที่  โรงพภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศฯลฯ