วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุมสุวัจน์ ลิปตพัลลภ 2 อาคารยุพราชเบญจมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม (อว.) ได้ร่วมมือเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
เพื่อขับเคลื่อนนโยบายกระทรวง อว.ด้านการสร้างและพัฒนาคนให้เป็น Smart Citizen เปิดโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกช่วงวัย (Life Long Learning) โดยจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ 3 ฉบับ ดังนี้
1.ความร่วมมือว่าด้วยเครือข่ายคลังหน่วยกิตระหว่างมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
2.ความร่วมมือว่าด้วยการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรแบบ 2 ปริญญา ระหว่างกองทัพภาคที่ 2 กองบิน 1 ตำรวจภูธรภาค 3 ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 3 จังหวัดนครราชสีมา
3.ความร่วมมือว่าด้วยการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน และบริการวิชาการเพื่อพัฒนาท้องถิ่นระหว่างศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราช และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
นายสุวัจน์ ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “สานพลังอุดมศึกษาพัฒนาโคราช” ว่าทั้งสามมหาวิทยาลัยของโคราชต่างก็มีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เด่นด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เด่นเทคโนโลยีเฉพาะทาง โดยเฉพาะระบบรางและการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอาชีวศึกษา ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เด่นด้านสังคมศาสตร์ การผลิตครู และการพัฒนาท้องถิ่น ดังนั้น หากทั้งสามมหาวิทยาลัยจับมือกันเชื่อว่าจะพัฒนาโคราชให้เป็นมหานครแห่งภาคอีสาน
นายสุวัจน์ กล่าวว่า ตอนที่จะมีการก่อสร้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในสมัยท่านพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ตรรกะและวิธีคิดของพลเอกชาติชายตอนนั้น ท่านบอกว่าภาคอีสานยากจน ฉะนั้น จะต้องให้การศึกษาเอาการศึกษามาไล่ความยากจน คนอีสาน เป็นลูกจ้างมานานเพราะขาดการศึกษา ถ้ามีการศึกษาก็จะทํางานไฮเทค จะเป็นเจ้าของกิจการ ตอนนั้นท่านต้องการให้โคราช เป็นฐานการลงทุนของภาคอีสาน จึงมีนโยบายโคราชเป็นประตูสู่อีสาน อีสานเป็นประตูสู่อินโดจีน แปลงสนามรบเป็นสนามการค้า
“ท่านบอกว่าจะต้องมีการพัฒนาคน ถ้าไม่พัฒนาคนแล้วการลงทุนไม่มา ท่านอยากให้พวกเราเป็นแผ่นดินที่มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรม จึงต้องมีมหาวิทยาลัยเฉพาะเกิดขึ้นเป็นมหาลัยที่สอนในด้านอุตสาหกรรม ทางด้านเอ็นจิเนียริ่ง ทางด้านงานวิจัย และต้องมีคอนเซ็ปต์ ไม่ใช่มหาลัยที่อยู่ในระบบราชการ แต่เป็นมหาลัยแห่งแรกที่ออกนอกระบบ นี่คือ ตัวตนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี”
ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าทั้งสามมหาวิทยาลัย มีจุดแข็งที่แตกต่างกันการที่เราให้นักศึกษาได้เลือกก็เหมือนเป็นการแชร์ ที่เป็นจุดแข็งแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นข้อดีและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งตอนนี้เรากําลังอยู่บนความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเทคโนโลยี และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดผลกระทบมาจากเรื่องโรคระบาด
ขณะเดียวกันเราก็ยังมีปัญหาเรื่องของสงคราม ที่มาตัดวงจรอาหาร ตัดวงจรน้ำมัน ตัดวงจรแก๊สธรรมชาติแล้วก่อให้เกิดปัญหาพลังงานที่มีราคาแพง และขณะที่เกิดทั้งสงคราม เกิดทั้งโรคระบาดทุกประเทศ กู้ยืมเงิน ก่อหนี้ ทําให้เกิดภาวะเงินเฟ้อกันอย่างมหาศาล วันนี้ สิ่งรอบตัวเรามันมีความสับสนและมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ฉะนั้น สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะต้องมีคําตอบเรื่องเดียว คือ Life Long Learning คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ทันกับเหตุการณ์ของโลก เพื่อให้ทันสมัยกับสิ่งที่อยู่รอบตัวเราทั้งหมด อันนี้แหละ คือ ข้อดีทั้งสามข้อในความร่วมมือของการจัดเครือข่ายทางหน่วยกิต เพื่อให้ทุกคน มีความยืดหยุ่นตัวรวดเร็ว แล้วทันสมัยกับภาวะการเปลี่ยนแปลงที่ล้อมรอบตัวเรา และข้อดีสุดท้ายแนวคิดของรัฐมนตรี คือ ข้อที่สี่ ทําให้เราสามารถออกแบบชีวิตเราเอง
my way สมัยก่อนเราจะเรียนตามกรอบที่กําหนดเอาไว้ แต่ทักษะโครงสร้างของมนุษย์ความคิดไม่เหมือนกัน ฉะนั้น Talented Genius ไม่อ่อน การเรียนการสอนแบบนี้ เราจะรู้ตัวตนว่าเราอยากเรียนอะไร ฉะนั้น ทักษะความเฉลียวฉลาด จะได้ถูกหยิบมาใช้ จากการที่เลือกเรียนในสิ่งที่เราชอบ
นายสุวัจน์ กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ได้ทําหน้าที่อย่างเข้มแข็งในการดูแลสังคมชุมชนท้องถิ่นให้กับจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดที่มีความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจ รองจากเมืองหลวง เป็นเมืองที่ใหญ่มาก มีฐานประชากรสองล้านห้า เป็นตัวเร่ง GDP ให้กับประเทศ มีความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจทุกอย่าง
แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของโคราช คือเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ทางด้านวัฒนธรรม soft power คือ มีภาษาเป็นโคราช อาหารโคราช เครื่องแต่งกายโคราช เพลงโคราช มวยโคราช ถือว่า อุดมสมบูรณ์ไปด้วย soft power. และบทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ กับการรักษาการอนุรักษ์ การต่อยอด soft power เพื่อจะเป็นพื้นฐานของการสร้างความรัก ความสามัคคี และเป็นพื้นฐานในการที่จะเปลี่ยน soft power ให้เป็น economic power เปลี่ยนพื้นฐานทางด้านวัฒนธรรมให้มาสนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ทำ
นายสุวัจน์ กล่าวว่า เรื่องไม้กลายเป็นหินที่ท่านรัฐมนตรีฯ จะไปเยี่ยมชมนั้น ถือว่าเป็นอีกพลังหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏฯ มีบทบาทเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2535-2536
“ช่วงผมเป็นรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ และเป็นนายกสภาฯ สมัยแรกจนถึงปัจจุบัน ไปเจอไม้กลายเป็นหินที่บ้านโกรกเดือนห้า ไม้กลายเป็นหินก็คือ ไม้ ต้นไม้ที่จมอยู่ใต้ดินเป็นล้าน ๆ ปี แล้วพวกแร่ธาตุต่างๆ ที่อยู่ใต้ดินซึมเข้าไปในเนื้อไม้ แต่ก็คงสภาพต้นไม้ เนื้อไม้เอาไว้ แต่เปลี่ยนสีของเนื้อไม้ให้เป็นสีตามแร่ธาตุ เจ้าอาวาสท่านเก็บเอาไว้แล้วมอบให้ผม ผมก็เลยมอบไม้กลายเป็นหินให้กับมหาลัยราชภัฏฯ ศึกษาค้นคว้าต่อไปจนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือฯ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เชิงวิชาการของจังหวัดนครราชสีมา”
ที่สําคัญที่สุดหลังจากนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏฯ เริ่มมีชื่อเสียงในเรื่องฟอสซิล มีการจัดประชุมวิชาการทางด้านฟอสซิล มีอาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกหลายร้อยคนเดินทางมาประชุมที่จังหวัดนครราชสีมา
“มหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ต่อยอดจากสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน เริ่มมีการค้นคว้าขุดลงไปเจอ ซากช้างโบราณ เต่าโบราณ ซากไดโนเสาร์ เป็นจํานวนมากเป็นซากของฟอสซิลต่างๆ ที่สะสมตัวมานับล้านปี ขุดพบที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อําเภอเมืองราชภัฏฯ ก็เพิ่มจากคําว่าไม้กลายเป็นหินธรรมดา จากการประชุมฟอสซิลโลก วิจัยเจอแล้วก็เรียกว่า “อุทยานธรณีโคราช” คุมพื้นที่ 5 อําเภอ อําเภอเมือง อําเภอขามทะเลสอ อําเภอสูงเนิน อําเภอสีคิ้ว และอําเภอเฉลิมพระเกียรติ เป็นพื้นที่ฟอสซิล ที่สะสมมานับล้านล้านปี กลายเป็น “อุทยานธรณีโคราช”
โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ เป็นผู้ดูแล” และขยายผลเป็น “อุทยานธรณีโลก Global Geopark“ ประสานงานกับทางจังหวัด ประธานกระทรวงทรัพย์ เสนอ อุทยานธรณีโคราช ให้เป็นอุทยานธรณีโลก เราทํางานด้านนี้มาหลายปีโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏ
ล่าสุด นําเข้าสู่ที่ประชุมยูเนสโก ส่งตัวแทนมาตรวจพื้นที่ทั้ง 5 อำเภอของอุทยานธรณีโคราช รอเพียงนําเข้าที่ประชุมใหญ่ของยูเนสโก เดือนเมษายนปี 2566 ถ้ามีการประกาศรับรอง โคราชก็จะมีอุทยานธรณีโลกเกิดขึ้น ประเทศไทยมีอุทยานธรณีโลกหนึ่งแห่ง คือ ที่จังหวัดสตูล ถ้าอุทยานธรณีโลกของโคราชเกิดขึ้น ก็จะเป็นอุทยานธรณีโลก แห่งที่สอง
“ความสําคัญของโคราช ไม่ได้จบตรงที่อุทยานธรณีโลกเท่านั้น แต่ว่าโคราชจะเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทย และเป็นจังหวัดที่สามในโลก ที่มีสิ่งสามสิ่งอยู่ด้วยกัน คือ 1.มีมรดกโลก ประกาศโดยยูเนสโก คือ เขาใหญ่ 2.มีแหล่งสงวนชีวมณฑล ที่สะแกราช อําเภอปักธงชัย ประกาศโดยยูเนสโก 3.ถ้าเรามีอุทยานธรณีโลก ที่ประกาศโดยยูเนสโก โคราชเราจะเป็นจังหวัดเดียว ที่มีทั้งสามสิ่ง ที่เขาเรียกว่า Triple Crown ซึ่งในโลก มีจังหวัดที่มีสามสิ่งมีอยู่แค่สองประเทศ คือ เกาหลี อิตาลี ถ้าโคราชได้เป็นอุทยานโลก เราจะเป็นจังหวัดที่สามในโลก ที่มีสามมงกุฏในจังหวัดนครราชสีมา”
ฉะนั้น เป็นความยิ่งใหญ่ของมรดกทางด้านวัฒนธรรม ไม่ใช่เท่านั้น แต่คิดเรื่องเศรษฐกิจ ว่า วันนี้อุตสาหกรรมเรื่องการท่องเที่ยว เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เราเคยมีนักท่องเที่ยว 40 ล้าน พอเราเจอโควิด หายไปหมด ตอนนี้เปิดประเทศใหม่ ปีนี้อาจจะ 8 ล้านคน ปีหน้าก็อาจจะ 15 หรือ 16 ล้านคน ถ้านักท่องเที่ยวกลับมาเมื่อไหร่ เศรษฐกิจของเราก็จะกระเตื้อง
เพราะว่ารายได้จากการท่องเที่ยว ตอบโจทย์ของประเทศมากกว่ารายได้จากการอุตสาหกรรม เพราะเรื่องการท่องเที่ยว ตอบโจทย์ของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความเสมอภาค ความยากจน ทุกคนมีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวเหมือนกันหมด การท่องเที่ยวจะเป็นกระดูกสันหลัง เป็นแพลตฟอร์มใหม่ ของเศรษฐกิจของประเทศ ในภาวะความสับสนต่างๆ
“ถ้าเราสามารถบูรณาการสามมงกุฎ เข้าไว้ด้วยกัน แล้วสร้างให้เกิดความยิ่งใหญ่ เหมือนกับเราเป็นเมืองที่มีมรดกโลก มีแหล่งสงวนชีวมณฑล มีอุทยานธรณีโลก แล้วเราดีไซน์ให้เป็น UNESCO route เส้นทางยูเนสโก ที่จะเชื่อมโยงสามมงกุฎไว้ด้วยกัน เป็นพื้นที่อําเภอที่ติดต่อกัน เพราะมรดกโลกอยู่ที่ปากช่อง สแกราช ที่เป็นแหล่งสงวนชีวมณฑล อยู่ที่ปักธงชัยก็ติดกัน แล้วอีกห้าอําเภอที่เป็นอุทยาน อําเภอเมืองก็ติดกัน สูงเนิน ขามทะเลสอ เฉลิมพระเกียรติ ก็อยู่ติดกัน สีคิ้ว
ฉะนั้น มันเป็นพื้นที่เจ็ดอําเภอ ของสามมงกุฎ ถ้าเราดีไซน์เป็นถนนท่องเที่ยวยูเนสโก เรื่องชุมชน ไปดีไซน์เรื่องการรองรับ เรื่องเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยว มีความง่ายในการจะเข้าถึง มีโอทอป มีสินค้าชุมชน หมู่บ้านชุมชนที่จะต้อนรับ มีป้ายบอกต่างๆ มีการขายของที่ระลึก ซึ่งการดีไซน์ที่เป็นเรื่องใหญ่ อาจจะเป็นการรวมพลัง รวมพลังของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้ามาร่วมมือกันพัฒนา UNESCO route ยูเนสโก รูท จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลกอันหนึ่ง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน แล้วก็ตอบโจทย์การลงทุนของภาครัฐ ตอบโจทย์การลงทุนของภาครัฐ”
คือ โครงการมอเตอร์เวย์จากกรุงเทพฯมาโคราชและรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราชซึ่งได้ลงทุนไว้หลายแสนล้านก็จะอำนวยประโยชน์ให้กับการท่องเที่ยวและมีความคุ้มค่าคุ้มทุนกับสิ่งที่รัฐได้ลงทุนไป
“ฉะนั้น ผมอยากเห็นบทบาทของมหาวิทยาลัยต่างๆ มารวมพลังกันเหมือนกับเป็นสภาพัฒน์ เป็นสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัด ช่วยกันคิด ช่วยกันทํา ช่วยกันออกแบบ เพื่อสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาแต่ละจังหวัดนั้น ให้มีความเจริญ ก้าวหน้าต่อไป” นายสุวัจน์ ระบุ