กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง หน่วยงานรับผิดชอบแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ซึ่งดำเนินตามขั้นตอน เริ่มจาก การได้รับคำขอจากท้องถิ่น ,การคัดเลือกพื้นที่ดำเนินการตามระดับความรุนแรงของการกัดเซาะ ส่งผลกระทบประชาชน รวมถึงต้องสอดคล้องกับข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฯลฯ จึงจะศึกษาออกแบบ ดำเนินโครงการแต่ในทางกลับกันได้มีข้อร้องเรียนเกิดขึ้นนั้น
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมฯ ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ เข้ามามีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ครั้ง
เพื่อนำข้อคิดเห็นไปทบทวนปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงานที่เหมาะสม จึงเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างต่อไป พร้อมนี้ ได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม และมีการตรวจสอบเฝ้าระวังผลกระทบในระยะยาวหลังก่อสร้างเสร็จ
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่ากลุ่ม Beach for life และ เครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด ได้ยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ให้รัฐบาลดำเนินการตาม 3 ข้อ คือ 1. ขอให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งแก้ไขมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 กรกฎาคม 2534 และวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2539 ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการ (เดิม)
ในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองไม่มีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันและจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่ากรมโยธาธิการและผังเมืองสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรชายหาด ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล
ในการสร้างกำแพงกันคลื่น เพื่อทำลายชายหาด 2. ขอให้คณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเอาโครงการกำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังเดิม เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิให้แก่ประชาชนและชุมชน
รวมถึงเพื่อให้เกิดกระบวนการและกลไกในการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชนก่อนดำเนินการโครงการกำแพงกันคลื่น และ 3.ขอให้คณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้มีการฟื้นฟูสภาพชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น โดยเฉพาะหาดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูชายหาดให้กลับมาดังเดิม นั้น
กรมโยธาธิการและผังเมือง ขอเรียนว่า กรมฯ มีหน้าที่แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ตาม พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และแก้ไขเพิ่มเติม และกฎกระทรวงแบ่ง ส่วนราชการ พ.ศ. 2557 พรบ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และมติครม. วันที่ 30 กรกฎาคม 2534
ตลอดจนมติครม.วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2539 ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำและริมทะเลทั่วประเทศ และกรมฯ ได้ดำเนินโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ภายใต้พรบ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558
โดยมี “คณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองและให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นต่อโครงการ มาตรการ ระเบียบ หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติ สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในภาพรวมและเชิงพื้นที่” ที่มีคกก.มาจากนักวิชาการ ภาค ปชช. NGO และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการที่จะก่อสร้างตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นมา
ต้องเสนอต่อคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองฯ เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอต่อไปยังสำนักงบประมาณเพื่อประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ จะเห็นได้ว่าแนวทางดังกล่าวเป็นกลไกที่ใช้พิจารณาการของบประมาณในปัจจุบัน ในการกลั่นกรองโครงการ และมีหน่วยตรวจสอบดูแลที่มีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน กรมฯ ได้ปรับแนวทางการออกแบบเป็นโครงสร้างป้องกันรูปแบบผสมผสานที่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิมตามมาตรฐานวิชาการ เพิ่มการเสริมทรายชายหาดหน้าเขื่อน ซึ่งจะใช้แทนโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะที่มีขนาดใหญ่ ในบริเวณพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยว เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก่อสร้าง และมีความสวยงาม กลมกลืนสอดคล้องกับสภาพพื้นที่มากขึ้น
โดยจะดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างเพื่อป้องกันการกัดเซาะในพื้นที่เดือดร้อนเร่งด่วน และจำเป็นตามหลักวิศวกรรมเท่านั้น และโครงการจะต้องผ่านความเห็นชอบตามขั้นตอนของคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองฯ ด้วย ทั้งนี้ ภารกิจในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมีหลายหน่วยงาน ดำเนินการ
เช่น กรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้น การยุติบทบาท จะส่งผลต่อสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ
สำหรับประเด็น การทบทวนให้นำโครงการกำแพงกันคลื่นกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น ในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว
ผลเป็นอย่างไรกรมฯพร้อมจะดำเนินการ ต่อไปส่วนแนวทางการฟื้นฟูสภาพชายหาดบริเวณพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทยที่ได้รับความเสียหายมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลคือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ท้ายสุดกรมโยธาฯ ขอยืนยัน ว่าการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล จะดำเนินการในพื้นที่ที่มีสภาพการกัดเซาะรุนแรง และเป็นความต้องการของ ปชช. ในพื้นที่ โดยจะเลือกรูปแบบที่เหมาะสมทางวิชาการ ผ่านการรับฟังความคิดเห็น และความเห็นชอบของคณะทำงานกลั่นกรองระดับชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างยั่งยืน