กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการวางผังนโยบายระดับประเทศ ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 เพื่อใช้เป็นกรอบนโยบาย และยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศ ในด้านการใช้พื้นที่ การพัฒนาเมืองและชนบท การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่พิเศษ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ
การวางผังนโยบายระดับประเทศ ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนมาใช้เป็นกรอบแนวคิดในการวางและจัดทำผังโดยคำนึงถึงบทบาทและศักยภาพของพื้นที่สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของประเทศในด้านต่างๆ ภายหลังเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19
เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนโดยจัดทำวิสัยทัศน์ และแนวคิดการใช้พื้นที่ของประเทศ ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศ โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ของผังนโยบายระดับประเทศ “เชื่อมโยงการพัฒนาทุกมิติ สร้างสรรค์นวัตกรรม พร้อมรับการเติบโตอย่างยั่งยืน”
นายอนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ฐานะประธานเปิดการประชุม การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 3 เรื่อง “ร่างกรอบนโยบายการใช้พื้นที่ของประเทศ และกรอบนโยบายการพัฒนาภาค” ของภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑลว่าปัจจุบันโครงการได้ดำเนินมาถึงขั้นตอนการจัดทำร่างกรอบนโยบายการใช้พื้นที่ของประเทศและกรอบนโยบายการพัฒนาภาคกลาง
โดยถ่ายทอดวิสัยทัศน์เป้าหมายและยุทธศาสตร์การพัฒนาลงสู่พื้นที่แต่ละภาค เพื่อให้ประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างยั่งยืน โดยพัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งให้เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจและบริการสังคมส่งเสริมนวัตกรรม การพัฒนาเมืองและชนบทดำรงรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน
การวางผังนโยบายระดับประเทศตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนจึงจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวนกว่า 900 คน ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ รัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร รวมถึงช่วงเสวนาวิชาการในหัวข้อ Future Thailand Toward 2037 : อนาคตประเทศไทยต้องรู้ โดยมีผู้ร่วมเสวนา 3 รายประกอบด้วย
ศ.ดร. กิตติ ประเสริฐสุข อนาคตด้านความเชื่อมโยงการพัฒนาประเทศไทยในอนาคตควรพัฒนาความเชื่อมโยงใน 3 มิติหลัก ได้แก่ มิติกายภาพของเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน มิติด้านพลังงาน และมิติบุคคล ซึ่งคือ การกระจายความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมฐานเศรษฐกิจเพื่อรองรับกิจกรรมระหว่างประเทศ และการพัฒนาเมืองหลักระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ อนาคตด้านนวัตกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลและการนำเทคโนโลยีเข้ามาผลักดันประเทศทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยหลังสถานการณ์โควิด-19 แนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นไปในลักษณะของความสะดวกสบาย
ในการเชื่อมต่อข้อมูลด้วยความรวดเร็วแบบอัตโนมัติอย่างชาญฉลาด สามารถประยุกต์ใช้ในด้านแพทย์ ภาคการเกษตร และภาคการขนส่ง และสามารถใช้กับการบริหารจัดการเมืองที่จะนำไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) อย่างมีประสิทธิภาพ
ศ.ดร. วิลาศ นิติวัฒนานนท์ อนาคตด้านความยั่งยืนการพัฒนาประเทศโดยการเชื่อมโยงด้านทรัพยากร และโครงสร้างพื้นฐาน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการลดความเสี่ยงและเพิ่มความยั่งยืนในการพัฒนาทุกมิติของเมือง รวมถึงการสร้างความสมดุลในบริบททางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม
เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งควรให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงระหว่างคนกับธรรมขาติ ซึ่งกิจกรรมการใช้พื้นที่และโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลต่อความต้องการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต
ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองจะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ ไปประมวลและปรับปรุงเป็นร่างผังนโยบายระดับประเทศในรายสาขาให้มีความครบถ้วน และจะนำมารับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง
พร้อมทั้งขับเคลื่อนให้เป็นไปตามเป้าหมาย และจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในปี2566 และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ นำไปใช้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้การพัฒนาประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป