กนอ.ร่วมลงทุน ไทยแท้งค์ เทอร์มินัลฯ บริหารจัดการท่าเรือสาธารณะฯ

12 ธ.ค. 2565 | 04:19 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2565 | 11:19 น.

กนอ.ร่วมลงทุน ไทยแท้งค์ เทอร์มินัลฯ บริหารจัดการท่าเรือสาธารณะฯ หลัง ครม.ไฟเขียว ระบุระยะเวลาการให้สิทธิ 30 ปี

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ได้ดำเนินการร่วมทุนกับบริษัท ไทยแท้งค์เทอร์มินัล จำกัดในรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) หรือร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน 

 

โดยเอกชนได้รับสิทธิในการประกอบกิจการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว และคลังเก็บสินค้าเหลว พร้อมอาคารและสิ่งปลูกสร้างบนพื้นที่โครงการ ระยะเวลาการให้สิทธิ 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญา และจัดสรรผลตอบแทนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง 

 

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งได้เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุน โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนโครงการแรก ที่ กนอ. ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 

ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว และคลังเก็บสินค้าเหลว บริเวณท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง มีเนื้อที่โครงการรวม 182.1535 ไร่ 

 

นายวีริศ กล่าวต่อไปอีกว่า โครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว ถือเป็นโครงการร่วมลงทุนที่ 2 ที่ กนอ. ร่วมทุนฯ ถัดจากโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) โดยบริษัท ไทยแท้งค์เทอร์มินัล จำกัด มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการท่าเรือมากกว่า 30 ปี กนอ. จึงเชื่อมั่นในศักยภาพของบริษัทฯ ในการดำเนินงาน 

 

กนอ.ร่วมลงทุน ไทยแท้งค์ เทอร์มินัลฯ บริหารจัดการท่าเรือสาธารณะฯ

โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระบบขนส่งแบบไร้รอยต่อของประเทศไทยไปสู่ประตูเศรษฐกิจโลก โดย กนอ. ต่อรองได้มากกว่าที่ ครม.กำหนด จาก 10,600 ล้านบาท เป็น 14,881 ล้านบาท 

 

นายวีริศ กล่าวอีกว่าส บริษัทฯ มีหน้าที่บำรุง รักษา และซ่อมแซมถังกักเก็บสินค้าเหลว จำนวน 102 ถัง (ถังเก็บแบบตั้งบนดิน On Ground) และถังกักเก็บของเสีย (Slop Tank) จำนวน 5 ถัง รวมถึงงานก่อสร้างทดแทนถังกักเก็บสินค้าเหลวข้างต้น เพื่อรักษามาตรฐานของถังกักเก็บสินค้าเหลวให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ราชการกำหนด 
 

สามารถรองรับปริมาณสินค้าเหลวได้ไม่ต่ำกว่า 723,000 ลูกบาศก์เมตรตลอดระยะเวลาโครงการ และให้มีการลงทุนเพิ่มพร้อมออกค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการตลอดระยะเวลา 30 ปี มูลค่า 14,881 ล้านบาท 

 

โดย กนอ. จะได้ผลตอบแทนตลอดระยะเวลาโครงการเป็นเงินมูลค่ารวม 20,236.68 ล้านบาท ซึ่ง ครม.กำหนดให้มีการเจรจาเพื่อเพิ่มสัดส่วนของบริษัทไทยเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันบริษัทไทยมีความเชี่ยวชาญมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 30 ปีที่ผ่านมา