14 ธันวาคม 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมริชมอนด์แกรนด์ จังหวัดนนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการแนวทางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจังหวัดโดยมีคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร ผู้แทนเกษตรกร คณะอนุกรรมการ กฟก. จากทั่วประเทศ ผู้บริหารสำนักงาน กฟก. หัวหน้าสำนักงานสาขาจังหวัด พนักงาน ลูกจ้าง และเกษตรกรสมาชิกเข้าร่วมโครงการกว่า 1,400 คน
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในฐานะประธานกรรมการกองทุนฯ ได้ผลักดันนโยบายให้ กฟก.แก้ไขปัญหาให้เกษตรกรมาอย่างต่อเนื่องทั้งผลักดันกฎหมายกองทุนฯ จนได้รับการแก้ไขเป็นครั้งที่ 3 สามารถปลดล็อกให้มีการช่วยเหลือเกษตรกรได้ในวงกว้าง
"เกษตรกรที่เป็นหนี้ค้างชำระกับสถาบันการเงินแล้วไม่สามารถใช้หนี้ได้ต้องถูกยึดที่ดินทำกิน ขณะนี้เกษตรกรที่ได้รับการจัดการหนี้จากกองทุนฯ สามารถใช้หนี้คืนแบบไม่มีดอกเบี้ย เมื่อใช้หนี้หมดก็ได้รับที่ดินทำกินคืน เป็นหนทางการปลดหนี้ และได้มอบนโยบายให้สนับสนุนงบประมาณเพื่อการฟื้นฟูอาชีพเพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนในการประกอบอาชีพด้วย"
นอกจากนี้ในปี 2565 ได้ผลักดันทางนโยบายให้ กฟก.ได้รับงบประมาณงบกลางจำนวน 2,000 ล้านบาท และในปี 2566 ได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปีอีก 500 ล้านบาท คาดว่าจะไม่เพียงพอต่อความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรคงต้องเสนอรัฐบาลของบกลางปี 66 อีกครั้ง
ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเป็นผู้แต่งตั้งในส่วนผู้แทนองค์กรเกษตรกร ผู้แทนภาคราชการและผู้แทนภาคเอกชน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราว 2 ปีนับจากวันที่แต่งตั้ง
การจัดอบรมในครั้งนี้จึงมีเป้าเหมายเพื่อสร้างความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของอนุกรรมการจังหวัดตามระเบียบ ประกาศ คำสั่งที่กำหนดไว้ และสร้างความเข้าใจในนโยบาย แนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกร เกิดการประสานงานกับระดับนโยบายและระดับผู้ปฏิบัติงานของสาขาจังหวัดได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และเข้าใจหลักการกระจายอำนาจตามระเบียบที่กำหนดไว้ด้วย
ด้านนายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูฯ กล่าวว่า อนุกรรมการทั่วประเทศที่มาอบรม นับว่า เป็นโอกาสที่ดีมากที่อนุกรรมการทุกท่านได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดประสบการณ์การทำงานในระดับจังหวัดร่วมกันสะท้อนปัญหาและแนวนโยบายที่จะขับเคลื่อนให้ กฟก. เดินไปสู่เป้าหมายในปี 2566 นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับเนื้อหาที่สำคัญของการอบรมจะมีการจัดทำแผนงานและเป้าหมายการดำเนินงาน การสนับสนุนงานตามภารกิจ 3 ด้าน ได้แก่ การบริหารสำนักงาน การฟื้นฟูอาชีพ และการจัดการหนี้ให้เกษตรกร เปิดโอกาสให้มีการระดมความคิดเห็นผ่านการเสวนากลุ่มย่อย
และนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้และการฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกร การสะท้อนปัญหาจากระดับพื้นที่ไปสู่ระดับบริหาร ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขและนำเสนอวิธีการบริหารจัดการ เพื่อให้เชื่อมโยงกับการปฏิบัติงานในพื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด