ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า การประมูลหาเอกชนมาร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ด้านขนส่งที่ผ่านมา ถ้าปล่อยให้ BTSC ผ่านเข้ามาถึงการพิจารณาข้อเสนอด้านผลตอบแทน จะพบว่า BTSC ชนะเกือบทุกโครงการ เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ถ้าไม่เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล และไม่ล้มประมูล ก็มีความเป็นไปได้ที่ BTSC จะชนะ
ที่ผ่านมาการประมูลรถไฟฟ้าในปี 2559 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดประมูลหาเอกชนร่วมลงทุนก่อสร้างและให้บริการเดินรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) 2 โครงการ ประกอบด้วยรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องเป็นผู้ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ (เงินขอรับสนับสนุนจาก รฟม. หักด้วย เงินตอบแทนให้ รฟม.) จาก รฟม. ต่ำที่สุด
ส่วนสายสีชมพู ผลการประมูลปรากฏว่า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC และพันธมิตรเป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจากขอรับเงินสนับสนุนสุทธิจาก รฟม. ต่ำกว่าบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ถึง 124,658.15 ล้านบาท โดย BTSC ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 19,823.23 ล้านบาท ในขณะที่ BEM ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 144,481.38 ล้านบาท
ขณะที่สายสีเหลือง ผลการประมูลปรากฏว่า BTSC และพันธมิตรเป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจากขอรับเงินสนับสนุนสุทธิจาก รฟม. ต่ำกว่า BEM ถึง 135,634.75 ล้านบาท โดย BTSC ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 22,087.06 ล้านบาท ในขณะที่ BEM ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 157,721.81 ล้านบาท
ดร.สามารถ กล่าวต่อว่า การประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยในปี 2561 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดประมูลหาเอกชนร่วมลงทุนและให้บริการเดินรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ผู้ชนะการประมูลจะต้องเป็นผู้ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ (เงินขอรับสนับสนุนจาก รฟท. หักด้วย เงินตอบแทนให้ รฟท.) จาก รฟท. ต่ำที่สุด
ผลการประมูลปรากฏว่า บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP และพันธมิตรเป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจากขอรับเงินสนับสนุนสุทธิจาก รฟท. ต่ำกว่า BTSC ถึง 69,466.61 ล้านบาท โดย CP ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 117,226.87 ล้านบาท ในขณะที่ BTSC ขอรับเงินสนับสนุนสุทธิ 186,693.48 ล้านบาท
ขณะที่การประมูลสนามบินอู่ตะเภา ในปี 2561 กองทัพเรือเปิดประมูลหาเอกชนร่วมลงทุนและบริหารจัดการโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ผู้ชนะการประมูลจะต้องเป็นผู้เสนอผลตอบแทนสุทธิ (ผลตอบแทนให้กองทัพเรือ หักด้วย เงินลงทุนของกองทัพเรือ) สูงที่สุด ผลการประมูลปรากฏว่า BTSC และพันธมิตรเป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจากเสนอผลตอบแทนสุทธิให้กองทัพเรือมากกว่า CP และพันธมิตรถึง 203,338 ล้านบาท และมากกว่ากลุ่ม Grand Consortium (GC) ถึง 204,652 ล้านบาท โดย BTSC เสนอผลตอบแทนสุทธิ 305,555 ล้านบาท ในขณะที่ CP เสนอ 102,217 ล้านบาท และ GC เสนอ 100,903 ล้านบาท
ดร.สามารถ กล่าวต่อว่า การประมูลมอเตอร์เวย์ ในปี 2562 กรมทางหลวง (ทล.) เปิดประมูลหาเอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษามอเตอร์เวย์ 2 สาย ประกอบด้วยสายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี โดยเอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุนก่อสร้างด่านเก็บค่าผ่านทาง ติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทาง ระบบบริหารงานจราจร และซ่อมบำรุงรักษา โดยจะได้รับค่าจ้างเป็นผลตอบแทน ผู้ชนะการประมูลจะต้องเป็นผู้ขอรับค่าตอบแทนจาก ทล. ต่ำที่สุด ทั้งนี้ รายได้จากค่าผ่านทางจะเป็นของ ทล.
ทั้งนี้สายบางปะอิน-นครราชสีมา ผลการประมูลปรากฏว่า BTSC และพันธมิตรเป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจากเสนอขอรับค่าตอบแทนจาก ทล. ต่ำกว่า บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UN และพันธมิตร 4,960 ล้านบาท และต่ำกว่า BEM 8,520 ล้านบาท โดย BTSC ขอรับค่าตอบแทน 21,329 ล้านบาท ในขณะที่ UN ขอ 26,289 ล้านบาท และ BEM ขอ 29,849 ล้านบาท
ขณะเดียวกันสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ผลการประมูลปรากฏว่า BTSC และพันธมิตรเป็นผู้ชนะการประมูล เนื่องจากเสนอขอรับค่าตอบแทนจาก ทล. ต่ำกว่า UN และพันธมิตร 5,340 ล้านบาท และต่ำกว่า BEM 7,387 ล้านบาท โดย BTSC ขอรับค่าตอบแทน 17,809 ล้านบาท ในขณะที่ UN ขอ 23,149 ล้านบาท และ BEM ขอ 25,196 ล้านบาท
ทั้งนี้จากผลการประมูลโครงการขนาดใหญ่ด้านการขนส่งหลายโครงการดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่า BTSC ชนะเกือบทุกโครงการ โดยการประมูลโครงการใดก็ตาม หากปล่อยให้ BTSC ผ่านเข้ามาถึงการพิจารณาข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน มีโอกาสสูงที่ BTSC จะชนะการประมูล เนื่องจาก BTSC กล้าเสนอผลตอบแทนสุทธิให้รัฐสูงมาก หรือขอรับเงินสนับสนุนสุทธิจากรัฐต่ำมาก
ดร.สามารถ กล่าวต่อว่า กรณีการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม หากไม่มีการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลและไม่ล้มประมูล มีความเป็นไปได้ที่ BTSC จะชนะการประมูล เพราะขอรับเงินสนับสนุนสุทธิจากรัฐต่ำมาก ทั้งนี้การประมูลโครงการใดก็ตาม ผู้เกี่ยวข้องย่อมรู้ดีว่าตน ทำตามความถูกต้อง หรือทำตามคำสั่ง ถ้าทำตามความถูกต้องก็สามารถชี้แจงข้อสงสัยได้ง่าย แต่ถ้าทำตามคำสั่งก็ชี้แจงได้ยาก คลุมเครือ และไม่ตรงประเด็น
“ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง”