รัฐบาลทุ่มเม็ดเงินลงทุน โครงข่ายรถไฟฟ้า รองรับบริการให้ครอบคลุมพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เพื่อดึงประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งทางรางมากขึ้น โดยปัจจุบัน กระทรวงคมนาคม ได้พัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าไปแล้ว ทั้งหมด 14 เส้นทาง ระยะทาง 554 กิโลเมตร ซึ่งมีทั้งเส้นทางที่แล้วเสร็จเปิดให้บริการและอยู่ระหว่างก่อสร้าง
ทั้งนี้ในปี 2566 หากรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) และรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย- มีนบุรี) แล้วเสร็จ เปิดให้บริการ เมื่อรวมเส้นทางที่เปิดให้บริการไปแล้ว จะมีระยะทางรวม 282.3 กิโลเมตร แม้จะพลาดเป้า การจัดอันดับของ ไอเอ็มดี (International Institute for Management Development: IMD) สถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่เคยจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันระบบรางทั่วโลก ว่าภายในปี 2566 กรุงเทพมหานคร จะถูกพลิกโฉมกลายเป็น มหานครระบบรางที่มีระยะทางยาว เป็นอันดับ 3 ของโลกระยะทาง 560 กิโลเมตร จากแผนจัดทำแผนแม่บทของกระทรวงคมนาคมที่เร่งรัดพัฒนา 13-14 โครงการ มูลค่ากว่า 9 แสนล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายที่จะยกระดับประเทศไทยเป็นมหานครทางรางมีความยาวติดอันดับต้นๆ ของโลก ขณะนี้เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมจากรถไฟฟ้าใหม่ๆ หลายเส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และทยอยเปิดให้บริการ
แม้บางเส้นทางอาจติดปัญหา ความล่าช้า ทั้งรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ ภายในปี2566 ต้องค้างเติ่ง เลื่อนการเปิดใช้บริการไปปี 2568 รอเอกชนรายเดียว ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก และเดินรถทั้งระบบ ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะดำเนินการได้เมื่อใดเพราะมีคดีรออยู่ในชั้นศาลปกครอง นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร มีนโยบายยกเลิกการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีทองเฟส 2 รวมทั้ง รถไฟฟ้าสายสีเทาเพื่อให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการ ฯลฯ
ขณะข้อมูลวิกิพีเดียเป็นฐาน พบว่า 5 อันดับเมืองที่มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาวที่สุดในโลก ดังนี้ อันดับ 1 กรุงปักกิ่ง มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 690.5 กิโลเมตร อันดับ 2 เซี่ยงไฮ้ มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 676 กิโลเมตร อันดับ 3 กรุงโซล มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 540.9 กิโลเมตร อันดับ 4 กวางโจว มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 531.1 กิโลเมตร และอันดับ 5 กรุงลอนดอน มีเส้นทางรถไฟฟ้ายาว 436 กิโลเมตร ขณะที่กรุงเทพฯยังติดอันดับที่ 25 ของโลก
ในปี 2565 กรุงเทพฯและปริมณฑล มีระบบรถไฟฟ้าที่เปิดบริการแล้ว จำนวน 11 เส้นทาง ระยะทาง 212 กิโลเมตร ประกอบด้วย 1. สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สมุทรปราการ ระยะทาง 37.10 กิโลเมตร 2. สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.70 กิโลเมตร 3. สายสีเขียวช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า ระยะทาง 14 กิโลเมตร 4. สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 20 กิโลเมตร 5. สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 14 กิโลเมตร 6. สายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 13 กิโล เมตร 7. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ ระยะทาง 28.70 กิโลเมตร 8. สายสีม่วง ช่วงคลองบางไผ่-เตาปูน ระยะทาง 23 กิโลเมตร 9. สายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน ระยะทาง 1.88 กิโลเมตร 10. สายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.30 กิโลเมตร 11. สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.26 กิโลเมตร
ส่วนรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 5 สาย ระยะทาง 137 กิโลเมตร ประกอบด้วย
1. สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 37.30 กิโลเมตร 2. สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 33 กิโลเมตร 3. สายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 22.50 กิโลเมตร 4. สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.60 กิโลเมตร และ 5. รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 21.80 กิโลเมตร
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงฯได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) หารือร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) เพื่อพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีความต้องการเดินทางสูง แต่โครงข่ายยังเข้าไม่ถึง รวมทั้งปรับปรุงแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางราง ระยะที่ 2 (M-MAP) ประกอบด้วย 1. ผลความคืบหน้าการศึกษาเรื่องการคาดการณ์ความต้องการเดินทาง (Demand Forecasting) และการสำรวจการจราจร (Traffic Surveys) 2. ความคืบหน้าของการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าและการวางแผนเส้นทางรถไฟฟ้า
ล่าสุดได้มีการยืนยันแผน การดำเนินงานจากทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่น โดยยืนยันว่าแบบจำลองที่จะใช้ในการกำหนดเส้นทางรถไฟฟ้าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในเดือนมกราคม ปี 2566 โดยนำผลที่ได้จากแบบจำลองมากำหนดเส้นทางรถไฟฟ้าต่อไป
การศึกษาครั้งนี้จะพิจารณาเส้นทางแผนผังรถไฟฟ้าที่มีความจำเป็นจริงๆ เพื่อให้สอดรับกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน และสอด คล้องกับทิศทางการพัฒนา และแนวคิดการวางผังเมืองในอนาคต จึงต้องจัดลำดับความสำคัญเส้นทางของรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งต้องพิจารณาว่าเส้นทางตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพ มหานคร และปริมณฑล ในช่วงปี 2553-2572 ยังมีความจำเป็นหรือไม่ จะต้องตัดออกหรือยังคงไว้เหมือนเดิม หรือต้องเพิ่มเส้นทางใดเข้ามาใหม่หรือไม่ เพื่อให้ทุกเส้นทางแผนที่รถไฟฟ้ามีการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด ลดความซํ้าซ้อน และช่วยลดงบประมาณการลงทุนในโครงข่ายที่ไม่มีความจำเป็น
สำหรับแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงปี 2553-2572 เช่น สายสีแดง ช่วงธรรมศาสตร์-บางซื่อ-หัวลำโพง-มหาชัย, สายสีแดงอ่อน ศาลายา-ตลิ่งชัน-บางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก, สายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4, สายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี, สายสีเทา วัชรพล-ท่าพระ ฯลฯ
ต้องจับตาดูว่ากระทรวงคมนาคมจะสามารถผลักดันรถ ไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑลได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ หากสามารถทำได้จะทำให้กรุงเทพฯขึ้นแท่นอันดับ 3 มหานครระบบรางของโลกได้