thansettakij
หอการค้าจี้รัฐ- ปลุกเอกชน รับมือกติกาค้าโลกใหม่ปี  66

หอการค้าจี้รัฐ- ปลุกเอกชน รับมือกติกาค้าโลกใหม่ปี 66

08 ม.ค. 2566 | 07:15 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2566 | 14:29 น.

ประธานหอการค้าไทย ปลุกผู้ประกอบการรับมือมาตรการทางการค้าใหม่ ลดเสี่ยงถูกกีดกัน เพิ่มโอกาสการแข่งขัน ทั้ง CBAM อียู คู่เอฟทีเอใหม่นำเรื่องความยั่งยืนเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในการเจรจาต่อรอง แนะรัฐ-เอกชนไทยเร่ง Net Zero ชิงได้เปรียบ

แม้การค้าโลกในปี 2566 มีแนวโน้มชะลอตัว จากภาวะเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวในระดับสูงในหลายประเทศ ที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ทั้งสหรัฐอเมริกา  สหภาพยุโรป(อียู) สหราชอาณาจักร และอื่น ๆ สัญญาณจากมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนติดลบที่ 4.4% และ 6% ตามลำดับ

 

อย่างไรก็ตามกฎกติกาการค้าโลกใหม่ ๆ ยังคงเดินหน้าต่อไป ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย ทั้งเพื่อสุขภาพ สุขอนามัยของผู้บริโภค การลดภาวะโลกร้อน เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนของโลก ฯลฯ

 

แต่อีกด้านหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า กฎกติกาต่าง ๆ ข้างต้นได้กลายเป็นมาตรการกีดกันการค้าสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามกฎกติกาที่ตั้งขึ้นมาใหม่ โดยในปี 2566  นี้ หนึ่งในมาตรการสำคัญที่อียูจะนำมาบังคับใช้คือมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566

 

ในสินค้านำร่อง 5 รายการ ได้แก่ ซีเมนต์ บริการ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอลูมิเนียม และยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมจากรัฐสภายุโรป ให้ครอบคลุมไฮโดรเจน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม และอุตสาหกรรมปลายน้ำที่ใช้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นส่วนประกอบเช่น ตะปูเกลียว นอต เป็นต้น

 

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มาตรการ CBAM  มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง ในฐานะประเทศ “รับจ้างผลิต” ที่พึ่งพิงการส่งออกค่อนข้างมาก โดย ผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มสินค้าดังกล่าวต้องเร่งปรับตัว เพราะหากไม่สามารถดำเนินการตามมาตรการได้ อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าส่งออกเหล่านี้ที่จะแพงขึ้นจากต้นทุนภาษีที่เพิ่มขึ้น ทำให้เสียเปรียบคู่แข่งในตลาด ที่หนักไปกว่านั้นสินค้านั้น ๆ อาจไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าอียู

 

ขณะที่มาตรการทางการค้าใหม่ ๆ ของประเทศคู่ค้าที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะการเร่งปรับตัวให้เข้ากับข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ ทั้งพหุพาคี และทวิพาคี เนื่องจากการทำ FTA กับประเทศต่าง ๆ นับจากนี้ จะมีประเด็นเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) เข้ามาเป็นข้อกำหนดในการเจรจาและเป็นแนวทางในการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น

 

ทั้งนี้แม้ว่าประเทศไทยจะสามารถขยายกรอบ FTA ได้มากขึ้นในอนาคต แต่หากผู้ประกอบการยังไม่สามารถปรับตัวได้ทันให้เข้ากับมาตรฐานการค้าใหม่ได้ ก็จะทำให้เสียโอกาสในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่ปัจจุบันมีข้อได้เปรียบไทยในด้านจำนวน FTA ที่มีมากกว่า

หอการค้าไทย เชื่อว่าช่วงจังหวะนี้เป็นโอกาสที่ทั้งภาครัฐ และผู้ประกอบการไทย จะต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โลกที่มีความท้าทาย บทบาทภาครัฐที่จะขยายโอกาสและเปิดประตูการค้ากับนานาประเทศ

 

ขณะที่เอกชนก็ต้องเตรียมพร้อมเพื่อบุกตลาดใหม่ ๆ ภายใต้ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ก็จะส่งผลให้เกิดการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ของประเทศ สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส และขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2566 ให้เป็นปีที่เติบโตอย่างมั่นคงของทุกภาคส่วนในประเทศไทยได้อย่างแน่นอน

 

นอกจากนี้จากการประชุมระดับโลก COP26 และต่อเนื่องมายัง COP27  ทำให้เห็นชัดเจนว่าประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการตามตั้งเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ว่า ไทยจะขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality)  ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายใน หรือก่อนหน้า ปี 2065  ซึ่งปัจจุบันมี 63 ประเทศที่ได้ประกาศเป้าหมาย Net Zero อย่างเป็นทางการ

 

ในจำนวนนี้รวมประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น ลาว และสิงคโปร์ ตัวอย่าง สปป.ลาว ได้ประกาศคำมั่นสัญญาทางการเมือง (Political Pledge) เรื่อง Net Zero และสิงคโปร์มีการบูรณาการแนวทาง Net Zero ไว้ในนโยบายระดับชาติแล้ว

 

ในส่วนของภาครัฐและเอกชนไทย จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ และออกแบบมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการไทย เข้าใจและให้ความสำคัญกับ ประเด็น Net Zero carbon ว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัว เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดการค้าโลกในอนาคตได้

 

ทั้งนี้ ทราบว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศใช้มาตรฐานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 7 มาตรฐานสำคัญ อาทิ มาตรฐานข้อกำหนดและข้อแนะนำระดับองค์กร การวัดปริมาณและการรายงานผลการปลดปล่อย และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก มาตรฐานแนวทางการหาปริมาณคาร์บอนฟุตพริ๊นท์  มาตรฐานแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมาตรฐานสำหรับหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก

 

ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของไทยจะต้องเร่งนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่มีสาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยหอการค้าไทยได้มีการสื่อสารไปยังสมาชิกและเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้อย่างรวดเร็วพร้อมรับมือกับมาตรการทางการค้าใหม่ ๆ ของโลกที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา