และแล้วพุทธศักราช 2565 หรือ คริสตศักราช 2022 ได้ผ่านไปแล้ว ปีที่ผ่านมานับว่าเป็นปีที่ยากลำบาก สับสนวุ่นวาย และแปรปรวนจนยากจะคาดการณ์อย่างยิ่ง แม้แต่สถาบันวิจัยชั้นนำก็หักปากกาเซียนทิ้งใส่ถังขยะ เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองทั้งระดับโลก ระดับทวีป ระดับภูมิภาค และระดับประเทศต่างก็เปลี่ยนแปลงไปแบบที่เรียกว่า “ยากจะทำนาย” ก็ย่อมได้ อย่างไรก็ดี ปีเก่าผ่านไป ปีใหม่ก็เดินทางมาถึง ขอต้อนรับพุทธศักราช 2566 หรือ คริสตศักราช 2023 ด้วยความยินดียิ่ง
เมื่อปลายปีที่แล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) ก็เผยแพร่รายงานการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจประจำปี 2023 ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างอ่อนแอทั่วทั้งโลกตลอดปีนี้
โดย IMF ได้เน้นถึงปัจจัยสำคัญสามประการที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งได้แก่ ปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่ยังไม่คลี่คลาย และความเข้มงวดกวดขันของนโยบายการเงินที่กำหนดโดยธนาคารกลาง สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และนโยบายต่อปัญหาโรคโควิด-19 ของประเทศจีน
ความน่าสนใจเกี่ยวกับภาพรวมของระบบเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ได้รับการบันทึกไว้ใน Harvard Business Review ฉบับเดือนธันวาคม 2565 ที่ได้สัมภาษณ์กูรูทางเศรษฐกิจทั้งหมด 3 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ Mihir Desai ศาสตราจารย์ในสาขาวิชาการเงินของ Harvard Business School ศาสตราจารย์ Karen Dynan ศาสตราจารย์แห่ง Harvard University และนักวิชาการอาวุโสของสถาบัน Peterson for International Economics และ Matt Klein นักข่าวเศรษฐกิจและผู้แต่ง The Overshoot newsletter ประเด็นที่ปรากฏในวารสารถือเป็นประเด็นที่น่าจะนำมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบโดยทั่วกัน
คำถามแรกเป็นการสอบถามผู้เชี่ยวชาญทั้งสามท่าน ในความคิดเห็นต่อประเด็นปัญหาเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 ศาสตราจารย์ Mihir ให้ความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงในอัตราดอกเบี้ยถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง แต่ก็มีผลสืบเนื่องไปสู่ห่วงโซ่อุปทานอย่างมีนัยสำคัญ และน่าจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ดีกว่าปีที่แล้ว
แต่อย่างไรก็ดี ผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ยังคงมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาด แผนการลงทุนของภาคเอกชน และราคาสินทรัพย์ต่อไป นอกจากนี้ การจัดการให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ที่ 2-3% นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งคงต้องใช้เวลาพอสมควรและในระหว่างนั้น หน่วยเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจก็คงต้องรับความเจ็บปวดอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ ศาสตราจารย์ Karen ก็ให้ข้อคิดเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงต่อไป ไม่ว่าเราจะพยายามกดมันลงเท่าไรก็ตาม ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยก็จะอยู่ในระดับที่สูงกว่าอดีตอย่างแน่นอน แต่ Matt กลับให้ความเห็นว่า ภาวะเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาเป็นการตอบสนองต่อแรงกดดันของวิกฤตการณ์โรคระบาดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งตอนนี้ภาคธุรกิจก็สามารถปรับตัวรับมือกับปัจจัยดังกล่าวได้แล้ว
แต่แม้ว่าปัจจัยดังกล่าวเป็นเสมือนคลื่นที่ถาถมมาครั้งเดียว แต่ผลกระทบอาจจะยาวนานกว่าที่คิด เขาคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะเป็น 4-5% ต่อปีนับจากปีนี้เป็นต้นไป
คำถามที่สองเป็นการสอบถามในเรื่องของสภาพของตลาดแรงงาน ในปี 2023 รวมทั้งประเด็นของการปลดพนักงานที่มีแนวโน้มว่า จะสามารถเป็น “Soft Landing” โดยไม่ปลดพนักงานได้หรือไม่ ศาสตราจารย์ Mihir มองว่า ตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ยังคงมีความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง แต่ก็คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบทั้งหลาย
ดังนั้น คำถามสำคัญคงเป็นเรื่องของความเร็วและความรุนแรงของภัยคุกคามในตลาดแรงงาน ซึ่งเรื่องที่กลัวไม่น้อยจะเป็นเรื่องของการบริโภคภาคเอกชนที่ลดลง ซึ่งผู้บริโภคกำลังเผชิญกับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น การลดลงของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก การกู้ยืมที่เพิ่มมากขึ้น และระดับความมั่งคั่งที่ลดน้อยถอยลง ดังนั้น ตลาดแรงงานก็ย่อมจะโดนผลกระทบของการบริโภคที่ลดลงอย่างแน่นอน แต่ความกังวลจะเป็นการปลดพนักงานประเภท White Collar เสียมากกว่า
แต่สำหรับศาสตราจารย์ Karen แล้ว เขาคิดว่า แม้ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ จะแข็งแรง แต่ก็เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน สิ่งที่น่ากังวลใจอย่างยิ่ง คือ แรงกดดันของค่าจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่สอดประสานกับภาวะเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงานก็น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันดังกล่าวในอีกไม่นาน
Matt กลับมีความเห็นที่แตกต่างออกไป โดย Matt ตั้งสมมุติฐานว่า อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 4-5% ต่อปี ซึ่งเกิดขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้าง และ Matt มองว่า ทุกอย่างมีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะภาวะของตลาดแรงงานที่หดตัว เนื่องจากถูกกดดันจากค่าจ้างที่ปรับตัวสูงขึ้น
ต่อมา ประเด็นเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤตการณ์โรคระบาด Covid-19 ถูกยกขึ้นมาพูดคุยกับกูรูทั้งสามท่าน ศาสตราจารย์ Mihir ชี้ประเด็นเกี่ยวกับภาวการณ์ชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ ดังที่ประเทศในทวีปยุโรปกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
แต่ศาสตราจารย์ Karen มองว่า โรคระบาดของไวรัส Covid-19 น่าจะไม่ใช่ตัวเร่งของภาวะเศรษฐกิจเหมือนช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่สงครามในยูเครน ยังคงเป็นปัจจัยที่น่าเป็นห่วงสำหรับเศรษฐกิจโลก เนื่องจากพลังงานที่ประเทศรัสเซียจำหน่ายให้แก่ประเทศในทวีปยุโรปถูกหยุดไป อันก่อให้เกิดวิกฤติราคาพลังงานและนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ Matt เห็นประเด็นตามศาสตราจารย์ Karen
นอกจากสามประเด็นที่ได้รับการอภิปรายแล้ว กูรูทางเศรษฐกิจก็ได้เพิ่มปัจจัยที่น่าเป็นห่วงสำหรับเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ดังต่อไปนี้ ประเด็นเกี่ยวกับความเปราะบางของตลาดเกิดใหม่ ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ความยากลำบากของภาคเอกชน ที่จะระดมทุนเพิ่มเติม และนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอัตราการล้มละลายของธุรกิจ ความนิยมของการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของประเทศต่างๆ จะเร่งให้ประสิทธิภาพการผลิตของโลกลดลง เป็นต้น
บทสรุปของคำทำนายของนักเศรษฐศาสตร์ และผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจก็สอดคล้องกับหลายๆ สถาบันที่ต่างออกมาคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจในปี 2566 ว่า เรายังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อต่อไป และก็ทำให้เราก็จะใช้ชีวิตกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงจนกว่าปัญหาเงินเฟ้อจะคลี่คลายไปในทางที่ดี ภาคธุรกิจก็คงต้องเตรียมแผนการรองรับเรื่องดังกล่าวให้สมบูรณ์ หาไม่แล้ว ความยากลำบากคงกระโจนเข้าประตูสำนักงานของท่านเป็นแน่แท้ สวัสดีปีใหม่ครับ