ส่งออกปี66 "พาณิชย์"ลุยเจาะตลาดเวียดนาม

31 ม.ค. 2566 | 05:48 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2566 | 05:52 น.

เจาะตลาดเวียดนามด้วยเครื่องดื่มพรีเมียมเพื่อสุขภาพมาแรง  มีโอกาสทำตลาดสูง แนะควรเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อเปิดตัวสินค้า ใช้ช่องทางออนไลน์ทำตลาดเพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย ถึงแนวโน้มตลาดสินค้าเครื่องดื่มในเวียดนาม และโอกาสในการขยายตลาดสินค้าเครื่องดื่มของผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ตลาดเวียดนาม

 

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)

 

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานสถานการณ์ตลาดเครื่องดื่มในเวียดนามในปี 2566 มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้น หลังจากซบเซาจากโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยฟื้นตัวทั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริโภคยังให้ความสำคัญต่อสุขภาพมากขึ้น โดยต้องการเครื่องดื่มที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย มีแหล่งที่มาที่ชัดเจน มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน 

 

“การขยายตลาดสินค้าเครื่องดื่มของไทยเข้าสู่ตลาดเวียดนาม ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ควรกำหนดกลยุทธ์ด้านการตลาดในการเข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในเวียดนาม โดยควรมุ่งเน้นการนำผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีความแตกต่างจากสินค้าทั่วไป เพื่อสร้างความแตกต่าง อาทิ ชาพร้อมดื่มบรรจุกระป๋องระดับพรีเมี่ยม เครื่องดื่มผลไม้ผสมสมุนไพร และน้ำผลไม้ตามฤดูกาล เน้นจุดเด่นคือมีให้บริโภคได้เฉพาะบางฤดูกาลเท่านั้น หรือการคัดสรรวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่มีชื่อเสียง”

 

ส่งออกปี66 \"พาณิชย์\"ลุยเจาะตลาดเวียดนาม

 

นอกจากนี้ อาจพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยแตกต่างจากบรรจุภัณฑ์ทั่วไปในท้องตลาด แม้ว่าตลาดเครื่องดื่มจะถูกครองตลาดโดยบริษัทต่างชาติ แต่ปัจจุบันผู้บริโภคชาวเวียดนามมีแนวโน้มลดการใช้เครื่องดื่มอัดลมและค่อย ๆ เปลี่ยนไปดื่มเครื่องดื่มออร์แกนิกเพื่อสุขภาพ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติและดีต่อสุขภาพ

ส่วนช่องทางการกระจายสินค้าเครื่องดื่มมีช่องทางการซื้อสินค้าส่วนใหญ่จากร้านตัวแทนจำหน่ายหรือร้านค้าของชำ ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาเก็ต และช่องทางออนไลน์ โดยมีแนวโน้มว่าผู้บริโภคนิยมซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากสะดวกรวดเร็ว และผู้บริโภคยังสามารถเปรียบเทียบข้อมูลและราคาสินค้าก่อนการตัดสินใจซื้อได้ และร้านค้าออนไลน์มีระบบชำระเงินผ่านการเชื่อมโยงกับบัญชีธนาคาร หรือการชำระเงินสดเมื่อได้รับสินค้า โดยผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งเสริมสินค้าให้เป็นที่รู้จัก ควรใช้วิธีร่วมกับผู้นำเข้าจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook , e-commerce websites ที่จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางเพื่อประชาสัมพันธ์และเพิ่มยอดการขายสินค้าในตลาดเวียดนาม

ขณะเดียวกัน ในการขยายตลาดควรจะเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในเวียดนาม เช่น Vietfood & Beverage - ProPack 2023 ที่มีกำหนดการจัดขึ้นในวันที่ 10-12 สิงหาคม 2566 ณ โฮจิมินห์ งานแสดงสินค้า Mini Thailand Week และงาน.Online Business matching (OBM) ที่จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

การส่งออกเครื่องดื่มของไทยไปเวียดนามในช่วง 11 เดือนของปี 2565 (มกราคม – พฤศจิกายน) มีมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 12% โดยน้ำแร่ น้ำอัดลมที่ปรุงรส มีมูลค่าสูงสุด 334 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 37,443.8% รองลงมา คือ เครื่องดื่มอื่น ๆ มูลค่า 60.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 82.4% เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อื่น ๆ มูลค่า 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 58.8% วิสกี้ มูลค่า 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 2,883.1% ไวน์ มูลค่า 3 แสนดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 343% เบียร์ มูลค่า 1.6 แสนดอลลาร์สหรัฐ ลด 46.8% เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อื่น ๆ 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ลด 59.7%