นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนในการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยมีเป้าหมายในการผลักดันสินค้า Local+ (โลคัล พลัส) จำนวน 3 กลุ่มสินค้า ได้แก่ 1.กลุ่ม BCG ที่มุ่งเน้นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ สินค้าออร์แกนิก 2.กลุ่มสินค้าอัตลักษณ์ ที่ต้องการรักษาภูมิปัญญา ความเฉพาะถิ่น คุณค่าทางวัฒนธรรม
และ 3.กลุ่มสินค้านวัตกรรม ที่ต้องการรักษาความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าชุมชน โดยจะเข้าไปช่วยเหลือในการให้ความรู้ด้านการผลิต การพัฒนาสินค้า และผลักดันออกสู่ตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ผลิตสินค้า และสร้างรายได้เข้าประเทศ
โดยกระทรวงฯ มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัด ในฐานะเซลล์แมนจังหวัด ที่ประจำอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ไปลงพื้นที่ ทำการคัดของดี ของเด็ด สินค้าที่มีศักยภาพ ทั้งกลุ่ม BCG กลุ่มสินค้าอัตลักษณ์ และกลุ่มที่มีนวัตกรรม เพื่อทำเป็นฐานข้อมูลสินค้า Local+ แล้วเข้าไปช่วยส่งเสริม ทั้งด้านการผลิต การพัฒนาตัวสินค้า ดีไซน์ สร้างเรื่องราว เพื่อให้มีคุณลักษณะพิเศษ มีคุณค่าต่อจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการรักสิ่งแวดล้อม รักษ์โลก การช่วยสืบทอดวัฒนธรรม เพื่อช่วยผู้บริโภครู้จักสินค้า Local+ สามารถขยายตลาด รวมทั้งเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับกลยุทธ์ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาสินค้า Local+ กำหนดไว้ 5 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.การสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการตลาดให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้บริโภค ให้มีความรู้ความเข้าใจถึงคุณประโยชน์ของ Local+ 2.การพัฒนาฐานข้อมูลที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการวางแผนการตลาดเชิงรุกให้กับสินค้า Local+ ในรูปแบบ 2 ภาษา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพส่งออก 3.การขยายตลาดสินค้า Local+ ทั้งในและต่างประเทศ โดยกำหนดจัดงานแสดงสินค้าในระดับภูมิภาคทั้ง 4 ภาค
ช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.2566 และจัดงานแสดงสินค้า เจรจาธุรกิจ และสัมมนาวิชาการ Thailand International Local Plus Expo 2023 (TILP Expo 2023) ช่วงเดือนมิ.ย.2566 เพื่อช่วยให้ความรู้ด้านการตลาด มาตรการ มาตรฐาน ขยายโอกาสของสินค้าเข้าสู่ตลาดเป้าหมายแก่ผู้ประกอบการ และจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (OBM) 4.การสร้างความหลากหลายของสินค้า Local+ ให้ตรงตามความต้องการของตลาด โดยจะช่วยพัฒนาสินค้าตัวใหม่ๆ ตามความต้องการของตลาด และ 5.การสนับสนุนเชิงนโยบาย โดยหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์จะร่วมมือกันพิจารณามาตรการสนับสนุน Local+ ในระดับนโยบาย เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการช่วยเหลือ และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ
“ กระทรวงได้เล็งเห็นถึงกระแสการบริโภคในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการบริโภคสินค้า กระแสการรักสุขภาพ การปกป้องสิ่งแวดล้อม และต้องการบริโภคสินค้าเฉพาะที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การรักษ์โลก จึงทำให้เป็นที่มาของการดำเนินโครงการ Local+”