นายก ย้ำ พลิกโฉม 'เกษตรกรไทย' ชู BCG Model นาปรัง

08 ม.ค. 2566 | 12:02 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2566 | 19:11 น.

นายกฯ ย้ำ รัฐบาลเดินหน้า พลิกโฉม 'เกษตรกรไทย' ชู BCG Model นาปรัง ข้าวรักษ์โลก ใช้นวัตกรรมใหม่พัฒนา และ โครงการ ป้องกันน้ำท่วมและน้ำกัดเซาะตลิ่ง จ.สิงห์บุรี 2 โครงการนำร่องสำเร็จ

8 ม.ค.2566 - พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ม.ค.66 ที่ผ่านมา ตนเองได้เดินทางไปตรวจราชการที่ จ.สิงห์บุรี เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการสำคัญในพื้นที่ 2 โครงการ ดังนี้

 

1. โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและน้ำกัดเซาะตลิ่ง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ระยะราว 3.5 กิโลเมตร คืบหน้ากว่า 80% ซึ่งหากแล้วเสร็จราว พ.ค.ปีนี้ ก็จะทันหน้าฝน สามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ 1,375 ไร่ ที่เป็นทั้งพื้นที่เกษตรกรรม ปศุสัตว์ แหล่งเศรษฐกิจ ศาสนสถาน ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ สถานที่ราชการ ตลอดจนบ้านเรือนประชาชน-เกษตรกร 3,650 ครัวเรือน 11,054 คน 
 

2. โครงการ “ข้าวรักษ์โลก BCG โมเดล นาปรัง” ที่เป็นการต่อยอดมาจาก "โครงการนำร่องข้าวรักษ์โลก BCG โมเดล" ที่ฝากผลงานน่าประทับใจระดับโลก ในการประชุมผู้นำ APEC ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลได้นำผลผลิตข้าวรักษ์โลก ซึ่งออกแบบบรรจุภัณฑ์เป็นสินค้าพรีเมียม สำหรับมอบให้กับแขกผู้มาเยือนและสื่อมวลชนภายในงาน และได้รับการชื่นชม จนสร้างความภาคภูมิใจให้กับเกษตรกรไทยอีกด้วย

นายก ย้ำ พลิกโฉม \'เกษตรกรไทย\' ชู BCG Model นาปรัง

ทั้งนี้ โครงการข้าวรักษ์โลก "ระยะที่ 1" นั้น รัฐบาลได้นำร่องส่งเสริมผ่านกองทุนหมู่บ้านฯ ในพื้นที่ จ.เชียงราย มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ รวม 20 กองทุนๆ ละ 1,500,000 บาท มีสมาชิกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ 2,674 คน บนพื้นที่โครงการฯ รวม 10,830 ไร่ โดยมีผลดำเนินการเป็นที่น่าพอใจ สามารถเพิ่มผลผลิตโดยเฉลี่ย ร้อยละ 27.07 และลดต้นทุนการผลิตโดยเฉลี่ย ร้อยละ 38.20

พร้อมระบุว่า รัฐบาล มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นว่าโครงการ “ข้าวรักษ์โลก BCG Model นาปรัง" นี้ มีความล้ำหน้าไปอย่างมาก โดยกรมการข้าว-กรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชน ได้ทำความร่วมมือกับ 4 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก, สมาคมศูนย์ข้าวชุมชน (ประเทศไทย), สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และสมาคมโรงสีข้าวไทย เพื่อ "ปฏิวัติการทำนา" สู่ความยั่งยืน ด้วยการประยุกต์หลักการ BCG ในยุทธ์ศาสตร์ “3 น” คือ "นา-น้ำ-นวัตกรรม" อีกด้วย ดังนี้

 

"นา" = จัดทำโซนนิ่งเพาะปลูกข้าว โดย (1) ไม่ให้เกิดการปนเปื้อนของข้าวต่างสายพันธ์ุ (2) ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด (ตลาดนำการผลิต) และ (3) แบ่งพื้นที่ให้ชัดเจนในการปลูกขาย และปลูกเพื่อไว้เก็บกินเอง

 

"น้ำ" = บริหารจัดการน้ำแบบหมุนเวียน โดย (1) นำน้ำจากที่ต่ำไปไว้บนที่สูง ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานทางเลือก แล้วปล่อยให้น้ำไหลจากที่สูงกลับลงที่ต่ำ ผ่านคลองใส่ไก่ หรือระบบชลประทานในพื้นที่ และ (2) แบ่งปันน้ำสู่แปลงนา และหรือพื้นที่เกษตรกรรม

 

"นวัตกรรม" = สร้าง/ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อยกระดับเป็น "เกษตรอัจฉริยะ" เช่น (1) ใช้ระบบชีวมวล ชีวภาพ และจุลินทรีย์เพื่อการเกษตร (2)  นำซากพืช/ซากสัตว์กลับมาเป็นปุ๋ยธรรมชาติ (3) ใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานทางเลือก/แบบหมุนเวียน เช่น ลมและแดด ซึ่งเกษตรกรสามารถควบคุมระบบผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ (4) ใช้โดรนในการฉีดพ่นจุลินทรีย์เพื่อการเกษตร (5) โรงสีใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ที่เก็บไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดตามที่กล่าวมาแล้ว และ (6) ส่งเสริมให้ใช้เครื่องเพาะกล้า, เครื่องหยอด, เครื่องดำนา, เครื่องอบเมล็ดข้าว เพื่อลดเวลา ลดค่าแรง ลดต้นทุนในการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล อีกด้วย

 

โดยโครงการ “ข้าวรักษ์โลก BCG Model นาปรัง” นี้ ถือเป็นโครงการระยะที่ 2 ตามนโยบายรัฐบาล ที่จะดำเนินการใน 10 จังหวัดๆ ละ 10 โครงการ รวม 100 โครงการ ใน 3 ภูมิภาคที่เอื้อต่อการทำนาปรัง ได้แก่ ภาคเหนือ 4 จังหวัด, ภาคกลาง 3 จังหวัด และภาคใต้อีก 3 จังหวัด ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าผลสำเร็จจากบทเรียนและประสบการณ์จากโครงการต้นแบบนี้ นอกจากจะช่วยสร้างให้ข้าวไทยเป็นสินค้าหลัก สร้างมูลค่าเพิ่มได้ยิ่งกว่าในอดีต นำรายได้เข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำแล้ว ยังจะสามารถขยายผลไปสู่สินค้าเกษตรอื่นๆ ในอนาคต เพื่อให้ภาคเกษตรกรรมของไทยมีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ชาวนา-ชาวสวน-ชาวไร่ของเราจะได้มีรายได้สูงขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีและมั่นคงขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญก้าวใหม่ในการ “พลิกโฉม” การทำการเกษตรของไทย เพื่อความมั่นคงในการเป็นผู้นำประเทศผู้ผลิตข้าวและสินค้าเกษตรของโลก และเพื่อความยั่งยืนของโลกอีกด้วย