นัดแรก "ศาลปกครองสูงสุด" พิจารณาคดีปมล้มประมูลสายสีส้ม-กีดกันการแข่งขัน

16 ก.พ. 2566 | 02:50 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.พ. 2566 | 03:15 น.

16 ก.พ.นี้ นัดแรก "ศาลปกครองสูงสุด" นัดพิจารณาคดีปมล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังบีทีเอสยื่นอุทธรณ์ต่อศาลกีดกัดการแข่งขัน เอื้อเอกชนบางราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (16 ก.พ.2566) ศาลปกครองสูงสุดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ อ.1455/2565 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย

 

สำหรับคดีนี้บีทีเอสซีฟ้องว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ให้ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้ออกประกาศ เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563

ทั้งนี้ได้มีการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าววันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม กีดกันทางการค้า ขัดต่อแนวทางปฏิบัติในการคัดเลือกเอกชนในโครงการร่วมทุนอื่น ๆ และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ของเอกชนบางราย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ซื้อและยื่นเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล

 

ขณะเดียวกันศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามการประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว และเพิกถอนประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าว วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติ และตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีประกาศดังกล่าว

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติให้ยกเลิกการคัดเลือก และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ออกประกาศให้ยกเลิกประกาศเชิญชวน โดยพิจารณาแต่เพียงความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีความเสียหายใด ๆ จากการยกเลิกการคัดเลือกดังกล่าว ทั้งที่อาจเปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีหรือผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นได้แสดงความคิดเห็นเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในเรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองประสงค์จะออกคำสั่งมาเพื่อแก้ไขปัญหาว่าจะช่วยลดหรือแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งในการดำเนินโครงการได้จริงหรือไม่ หรือรอให้ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้แก้ไขเพิ่มเติมไว้เป็นการชั่วคราวหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นเสียก่อน หรือรอคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ก่อน

 

ซึ่งการดำเนินการตามวิธีการดังกล่าวอยู่ในวิสัยที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองสามารถที่จะกระทำได้ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นของเอกชนที่จะร่วมลงทุน ในความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างรัฐและเอกชน

นัดแรก \"ศาลปกครองสูงสุด\" พิจารณาคดีปมล้มประมูลสายสีส้ม-กีดกันการแข่งขัน

การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติให้ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ออกประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโดยมิได้พิจารณาที่จะดำเนินการดังกล่าว อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าในการมีมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และในการออกประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มิได้คำนึงถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุน รวมถึงกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง และความเชื่อมั่นของเอกชนที่จะร่วมลงทุน ในความโปร่งใส และตรวจสอบได้ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดังกล่าว ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างรัฐและเอกชน ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ที่มุ่งประสงค์ให้การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และปราศจากการมีส่วนได้เสียในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในการได้รับการบริการของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ

 

จึงฟังไม่ได้ว่ามติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ออกมาโดยมีเหตุสมควรและมีความจำเป็นเพื่อให้การบังคับใช้ตามมติและประกาศดังกล่าวบรรลุซึ่งประโยชน์สาธารณะตามเป้าประสงค์และตามเจตนารมณ์ที่พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนพ.ศ.2562 บัญญัติไว้อย่างครบถ้วน อันถือว่าเป็นมติและประกาศที่ออกโดยใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด