ชงครม.ไฟเขียว ด่วนขั้น 3 ตอน N2 1.7 หมื่นล้าน

22 ก.พ. 2566 | 08:15 น.

กทพ.เล็ง เปิดประมูลกลางปีนี้ สร้างทางด่วนขั้น 3 ตอน N2 แตะ 1.7 หมื่นล้านบาท ลุ้น คมนาคม ชงครม. ไฟเขียว ก.พ.นี้ เริ่มตอกเสาเข็มต้นปี 67 เร่งปรับแบบก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินตอน N1 ทำต้นทุนพุ่ง 3 หมื่นล้านบาท คาดศึกษาเสร็จสิ้นปี

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผย ความคืบหน้าโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทางรวม 11.3 กิโลเมตร (กม.) วงเงินราว 17,000 ล้านบาท ว่า ปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างรอกระทรวงคมนาคมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมติก่อสร้างโครงการฯตอน N2 ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 หรือให้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้

 ทั้งนี้หากครม.มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ตอน N2 แล้ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการประกาศเชิญชวนเพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในกลางปีนี้ และได้ตัวผู้ชนะการประมูลพร้อมลงนามสัญญาภายในปลายปี 2566 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในต้นปี 2567 ระยะเวลาก่อสร้างราว 3 ปี และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570

ส่วนการลงทุนของโครงการฯดังกล่าว เบื้องต้น กทพ.จะเป็นผู้ลงทุนและบริหารจัดการพร้อมรับภาระความเสี่ยงเอง โดยจะใช้งบประมาณจากแหล่งเงินกู้หรือพันธบัตรรัฐบาล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณา ซึ่งจะไม่ใช้งบประมาณจากจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) แล้ว เนื่องจากกทพ.มีแผนจะนำงบประมาณจากกองทุน TFFIF ไปใช้ในโครงการโครงการทางพิเศษ สายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี แทน

 

“ที่ผ่านมา กทพ.ได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังให้ความเห็นว่าควรใช้งบประมาณจากแหล่งเงินกู้หรือพันธบัตรรัฐบาล โดยมอบหมายให้กทพ. เป็นผู้รับผิดชอบชำระหนี้คืนด้วยตนเอง โดยที่ภาครัฐจะไม่ช่วยคํ้าประกัน”

สำหรับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N2 มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณ กม.1+000 ของถนนประเสริฐมนูกิจ บนตอม่อที่มีอยู่เดิม ผ่านแยกลาดปลาเค้า แยกเสนานิคม แยกฉลองรัช แยกนวมินทร์ ไปสิ้นสุดโดยเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพ มหานครด้านตะวันตก มีระยะทางรวม 11.3 กิโลเมตร (กม.) มีทางขึ้นลงจำนวน 5 แห่ง

ส่วนความคืบหน้าโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 ช่วงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขณะนี้กทพ.อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบการก่อสร้างของโครงการฯ เบื้องต้นกทพ.มีแผนจะก่อสร้างในรูปแบบ อุโมงค์ทางด่วนใต้ดินที่ผ่านบริเวณถนนงามวงศ์วานและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมก่อสร้างทางยกระดับควบคู่กันในบริเวณแนวเส้นทางตอน N2 เชื่อมทางพิเศษศรีรัช บริเวณถนนแคราย

ทั้งนี้ในช่วงที่อยู่ระหว่างศึกษาโครงการฯ ตอน N1 นั้น กทพ.จะ ดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ควบคู่กัน คาดว่าจะศึกษาออกแบบรายละเอียดของโครงการฯ ตอน N1 แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในต้นปี 2567 และเริ่มประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯได้ภายในกลางปี 2567

“หลังจากที่มีการเปิดประมูล โครงการฯ ตอน N1 อาจจะไม่ได้เริ่มก่อสร้างได้ทันที เนื่องจากในช่วงดังกล่าวกทพ.จะใช้ผลการศึกษาในรูปแบบการก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน ทำให้ต้องใช้เวลาเพื่อดำเนินการขอใช้พื้นที่ก่อสร้างโครงการฯจากหลายหน่วยงาน เช่น กรมทางหลวง (ทล.) ทั้งนี้ยืนยันว่า จะไม่มีการเวนคืนที่ดินบริเวณมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ แต่จะมีการเวนคืนที่ดินบางพื้นที่บริเวณช่วงเปลี่ยนโครงสร้างทางยกระดับและอุโมงค์ใต้ดิน โดยจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในกลางปี 2568 ใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างราว 4-5 ปี คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการปี 2573”

รายงานข่าวจากกทพ.กล่าวต่อว่า การก่อสร้างโครงการฯ ตอน N1 ที่ใช้รูปแบบอุโมงค์ใต้ดิน จะทำให้วงเงินลงทุนในช่วงดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 30,000 ล้านบาท หรือเกือบ 3 เท่า จากเดิมใช้วงเงินลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท ส่วนสาเหตุที่ทั้ง 2 ตอน มีการประมูลแยกกันนั้น เนื่องจากความพร้อมของโครงการฯ แต่ละตอนไม่เท่ากัน หากรอดำเนินการไปพร้อมกันจะทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการใช้บริการ

“ปัจจุบันกทพ.อยู่ระหว่าง เตรียมหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่ออัพเดตความคืบหน้าของโครงการฯตอน N1 เนื่องจากผลการศึกษาการก่อสร้างรูปแบบอุโมงค์ใต้ดินในเบื้องต้น ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่ได้รับผลกระทบแล้ว เชื่อว่าจะไม่ขัดข้อง คาดว่าจะหารือร่วมกันได้ภายในปีนี้”

ชงครม.ไฟเขียว  ด่วนขั้น 3 ตอน N2 1.7 หมื่นล้าน

ส่วนรูปแบบการลงทุนโครงการฯตอน N1 คาดว่าจะใช้งบประมาณจากแหล่งเงินกู้, พันธบัตรรัฐบาล หรือใช้งบประมาณจากกองทุน TFFIF ทั้งนี้คงต้องรอดูผลการศึกษาโครง การฯอีกครั้ง โดยปัจจุบันกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศ ไทย (TFFIF) มีงบประมาณราว 14,000 ล้านบาท

สำหรับทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 มีแนวเส้นทางผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างใหม่จากทางยกระดับเป็นอุโมงค์ทางลอด ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 23-25 เมตร ช่วงลอดถนนงามวงศ์วาน ถนนวิภาวดีรังสิต จากนั้นจึงจะโผล่ขึ้นเหนือดิน ก่อสร้างเป็นทางยกระดับเพื่อไปเชื่อมกับทาง ด่วนขั้นที่ 2 บริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร (กม.)