นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า 1 ปีของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ภาคการค้า และการดึงการลงทุนของไทย และจากสงครามยังยืดเยื้อต่อเนื่องปีที่ 2 และอาจจะทวีความรุนแรงในรอบใหม่ นี้คาดจะส่งผลกระทบต่อภาคการค้า การส่งออกของไทยในปีนี้ โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) คาดการณ์การส่งออกไทยปี 2566 จะขยายตัวได้เพียง 1-2% ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว
อย่างไรก็ตามในภาคการลงทุน เป็นอีกเครื่องยนต์หลักที่จะช่วยพยุงและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว จากเวลานี้ภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ดี ทั้งนี้ในเรื่องดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) ล่าสุดทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมีแผนเดินทางโรดโชว์ร่วมสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อดึงการลงทุนจากจีน และจากซาอุดิอาระเบียในช่วงเดือนเมษายนนี้
“สงครามรัสเซีย-ยูเครน สร้างความเสียหายมาก ทำให้น้ำมัน และพลังงงานขาดแคลน และมีราคาสูง และความไม่แน่นอนด้านต่าง ๆ ก็ยังมีสูง อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น ส่งผลถึงอัตราดอกเบี้ย(เพื่อสกัดเงินเฟ้อ)ต้องขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนอาหารของโลก และต้นทุนด้านต่าง ๆ สูงขึ้นหมด”นายสนั่น กล่าว
สำหรับการเดินทางโรดโชว์จีนที่จะมีขึ้น เป้าหมายเพื่อโปรโมทด้านการท่องเที่ยว โปรโมทผลไม้ไทย และโปรโมทดึงการลงทุน เน้นการดึงกลุ่มทุนจีนที่ดี ๆ มาลงทุน เรื่องการไปโรดโชว์จีนนี้ได้ปรึกษาหารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้ว โดยนายดอนยินที่จะร่วมนำคณะเดินทางไป
“เรามีแผนจะไปเจรจากับรัฐบาลกลางที่กรุงปักกิ่งก่อน หลังจากนั้นเอกชนก็จะบุกในแต่ละส่วน อย่างเช่นอาจจะเป็นอันฮุย หรือที่ที่เหมาะจะทำธุรกิจด้วยกัน ต่อด้วยซาอุดิอาระเบียก็จะเดินทางไปอีกครั้ง ซึ่งการเดินทางไปโรดโชว์ ใน 2 ประเทศจะเกิดขึ้นในเดือนเมษายนนี้ เพื่อตอกย้ำเรื่องการลงทุนของจีน รวมถึงเจาะตลาดใหม่ของเราคือซาอุฯที่ได้ฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทำให้การค้าการลงทุนระหว่างกันกำลังขยายตัวได้ดีมาก”
ในส่วนของจีนมีเป้าหมายเซ็คเตอร์ในการดึงการลงทุน ได้แก่ Medical (การแพทย์) เรื่อง Wellness (สุขภาพ) เรื่องพลังงานสะอาด อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ รวมถึงเรื่องอาหาร ซึ่งในส่วนของซาอุฯก็จะคล้าย ๆ กัน
อนึ่ง ในปี 2565 การขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติ( FDI) ในไทย 5 อันดับแรก ในแง่มูลค่าเงินลงทุน จีนแซงญี่ปุ่นขึ้นมาอยู่อันดับ 1 โดยมีมูลค่าเงินลงทุน 77,381 ล้านบาท (158 โครงการ), อันดับ 2 ญี่ปุ่น มูลค่าเงินลงทุน 50,767 ล้านบาท (293 โครงการ), อันดับ 3 สหรัฐอเมริกา มูลค่าเงินลงทุน 50,296 ล้านบาท (33 โครงการ), อันดับ 4 ไต้หวัน มูลค่าเงินลงทุน 45,215 ล้านบาท (68 โครงการ) และอันดับ 5 สิงคโปร์ มูลค่าเงินลงทุน 44,286 ล้านบาท (178 โครงการ)
ส่วนการค้าไทย-ซาอุดิอาระเบียในปี 2565 มีมูลค่ารวม 323,113.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.64% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยไทยส่งออก 71,386.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.46% และนำเข้า 251,727.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.69%
สินค้าส่งออกของไทยไปซาอุฯ 3 อันดับแรกได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (สัดส่วน 53%), ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (9.3%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (5.7%) ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากซาอุฯ 3 อันดับแรกได้แก่ น้ำมันดิบ (สัดส่วน 71%), ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช (9%) และ เคมีภัณฑ์(7%))