นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่กลับมาอ่อนค่าแตะ35บาทต่อดอลลาร์สหรัฐว่าการอ่อนค่าลงของเงินบาทยังคงมาจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และสาเหตุที่เงินดอลลาร์แข็งค่ามากกว่าสกุลเงินหลักอื่นๆมาจากความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าปรับ ขึ้นอัตราดอกเบี้ย
หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มดีกว่าที่คาดไม่ว่าจะเป็นดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการโดยคาดว่าเดือน ก.พ. เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน และการปรับตัวลงของจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน รายสัปดาห์ ซึ่งสนับสนุนแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในหลายๆรอบการประชุมข้างหน้าของธนาคารกลางสหรัฐ
โดย สถานการณ์ค่าเงินยังต้องจับตาประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อของสหรัฐว่าจะส่งสัญญาณชะลอตัวลงต่อหรือกลับมาเร่งขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจปรับดอกเบี้ยของเฟดได้ นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ และการอ่อนค่าลงของเงินหยวนท่ามกลางสัญญาณตึงเครียดระหว่างสหรัฐ-จีน
“ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าดังกล่าวจะยังคงมีอยู่ในระยะสั้นนี้ (อย่างน้อยจนกว่าตลาดจะเลิกหรือคลาย กังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด) ทำให้เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัว sideways และอาจเข้าใกล้โซนแนวต้าน 34-35 บาทต่อดอลลาร์”
สำหรับผลกระทบของค่าเงินบาทอ่อนต่อการส่งออกแน่นอนว่าส่งผลดีต่อการส่งออก กลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้ประโยชน์คือกลุ่มที่มีการนำเข้าวัตถุดิบน้อยและส่งออกมาก โดยเฉพาะ กลุ่มอาหาร เช่น ปลากระป๋อง ผลไม้กระป๋อง นอกจากนั้นยังมี เม็ดพลาสติก ยางแผ่น ยางแท่ง ยางนอกและยางใน น้ำตาล และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน
ส่วนกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบคือผู้นำเข้า เนื่องจาก ต้นทุนการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น เพราะราคาสินค้าจากต่างประเทศแพงขึ้นซึ่ง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ เคมีภัณฑ์อุปกรณ์การแพทย์ และเครื่องสำอาง ซึ่งสถานการณ์ทางค่าเงินปัจจุบันยังคงมีความผันผวนซึ่งต้องติดตามสถานการณ์
“ถ้าค่าเงินบาทอ่อนมีความผันผวนมาก เกินไปก็ไม่ค่อยดีเนื่องจากทำให้เราตั้งราคาลำบาก สิ่งที่ผู้ส่งออกต้องการคือให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่มีความสเถียรภาพคือ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ในช่วงค่าเงินผันผวน เอกชนมีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตัวอย่างวิธีบริหารจัดการกับความ เสี่ยงด้านความผันผวนทางการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน”
โดยผู้ส่งออกเองมีการ การซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) การซื้อสิทธิ์ที่จะซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (Option Contract) การฝากเงินตราต่างประเทศไว้ในประเทศไทย (Foreign Currency Deposit : FCD) ในช่วงค่าเงินบาทอ่อน ธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ผู้นำเข้าควรซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อป้องกันความเสี่ยง และผู้ส่งออก ขายเงินตราต่างประเทศที่ระดับเหนือ 34.8 บาท/ดอลลาร์