ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวในงานเปิดตัวหลักสูตร WEALTH OF WISDOM : WOW#2 ในหัวข้อ “พลิกโอกาสตลาดทุนไทย 2023” จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” และ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2566 ถือเป็นวิกฤตปีที่ 2 จากภาวะวิกฤตที่คาดว่าจะอยู่ราว 3 ปี (2565-2567) โดยเริ่มเห็นผลกระทบจากตัวเลขส่งออกที่ชะลอตัว และผลผลิตการเกษตรลดลง ขณะที่เศรษฐกิจโลกก็ชะลอตัวเช่นกัน และยังมีความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอยกลางปี ซึ่งจะเกิดขึ้นในฝั่งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และลาตินอเมริกา ส่วนทางด้านเอเชียยังรอดพ้นได้ หลังจากจีนได้พยายามจบปัญหาโควิด -19 กลับมาเปิดประเทศเร็วขึ้นโดยไอเอ็มเอฟ คาดเศรษฐกิจจีนปีนี้ จะเติบโต 5.2 % และตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไปเศรษฐกิจจีนจะดีขึ้นเป็นพิเศษ
การกลับมาของจีนถือว่ามาในจังหวะที่เหมาะสม และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่ายังเติบโต 3% ได้ แม้ส่งออกและนำเข้าจะชะลอตัว แต่การเติบโตมาจากการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสเข้ามาเกิน 25 ล้านคน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศยังอยู่ในระดับตํ่า การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังขึ้นแบบค่อนค่อยเป็นค่อยไป มองว่าจากระดับ 0.5% ไปที่ 2% ขยับขึ้นแค่ 1.5% หากรวมดอกเบี้ย FIDF 0.4% ซึ่งธุรกิจไทยถูกกระทบบ้างแต่ไม่มากและปรับตัวได้
ขณะที่ เงินทุนสำรองต่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นอยู่ระดับสูง ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น ให้กับนักลงทุน ว่ายังมีเงินสำรองติดมือ รองรับความเสี่ยงถ้าช่วงกลางปีจะมีวิกฤตถดถอย
ส่วนประเด็นที่ต้องจับตาหลังจากนี้ จากปัจจัยในประเทศ จะประกอบด้วย 3 ส่วนคือ
1. ค่าเงินบาทยังผันผวนตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปีก่อนเงินบาทอ่อนค่า เมื่อเทียบสกุลเงินในประเทศเกิดใหม่อ่อนค่า 12% แต่ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา เงินบาทจะแข็งค่ากว่าประเทศเกิดใหม่ราว 13.70% เป็นอันดับ 3 ( 9 ก.พ.2566) จากการท่องเที่ยวฟื้นตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าแลกเงินบาท การที่เงินบาทแข็งค่าส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย ขณะนี้มองว่าเงินบาทยังอ่อนค่าได้อีกระยะหนึ่ง
2. กระแสเงินลงทุนต่างชาติ มองว่า ปีนี้เป็นปีที่เงินลงทุนไหลออกทั้งจากตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย ไม่ใช่เป็นเงินลงทุนไหลเข้าเหมือนปีก่อน เนื่องจากปีก่อนไทยเคยถูกมองเป็น safe haven แต่ปีนี้เป็นโอกาสลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง
3.ปัจจัยเสี่ยงในประเทศ มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ง่าย หลังการเลือกตั้ง อาจมีการตกลงบ้างอย่าง ทำให้เกิดความไม่มั่นใจได้อยู่
ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศ ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ จะเป็นเรื่องของ 1.เศรษฐกิจซบเซาหรือเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศ โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และลาตินอเมริกา 2 .ผลกระทบของวิกฤติประเทศเกิดใหม่ 3. การฟื้นตัวของสินทรัพย์ต่างๆ ยังคงผันผวนตามการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
นายกอบศักดิ์ กล่าวยํ้าว่า ในระยะอีก 1-2 ปีข้างหน้า คาดว่าเงินเฟ้ออาจจะยังปรับเพิ่มดอกเบี้ยได้อีกระยะหนึ่ง รับกับสัญญาณเฟดว่าปี 2566 จะขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 0.75% หรือเฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับปกติ 0.25% ไปเรื่อยๆ ต่อได้เท่าที่จำเป็น จากล่าสุดอยู่ที่ 4.5-4.75% คาดการณ์ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐล่าสุดขึ้นไปแล้ว 0.25% ( 1 ก.พ.66) คาดว่าจะขึ้นอีก 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ( 22 มี.ค.66, 3 พ.ค.66,และ14 มิ.ย.66)
ทั้งนี้ เนื่องจากรายงานการประชุมเฟดเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า เฟดจะสู้ศึกเงินเฟ้อต่อจนเอาเงินเฟ้อกลับลงมาที่เป้าหมาย 2% ให้ได้ ซึ่งในอดีตเฟดเคยขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ถึง 14 ครั้ง ไปสู่ระดับ 4% ตลาดคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ ราว 3 ครั้ง มองว่า อาจเป็น 5-6 ครั้งก็ได้ และหลังจากนั้นจะคงดอกเบี้ยไปประมาณอย่างน้อย 11 เดือน เมื่อเงินเฟ้อเริ่มลง จากน้้นถึงจะเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 2567
ดังนั้น การที่ เฟดยังสู้เงินเฟ้อต่อในปีนี้ ไม่จบง่ายๆ อาจจะขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาด ในความผันผวนทั้งหมดปีนี้เเป็นโอกาสในการที่จะลงทุน แต่แนะยังต้องเลือกลงทุนในสินทร้พย์พื้นฐานที่เคยแย่ปีก่อนและยังมีโอกาสเติบโต
“ตอนนี้ ราคาสินทรัพย์บางอย่างปรับขึ้นไปแล้ว แนะว่าหากเห็นราคาไหนรับได้ให้ทยอยซื้อได้เลย แต่อย่าซื้อๆ ขายๆ ควรจะซื้อและถือไว้ 2-3 ปี เป็นโอกาสทำกำไรดีกว่าแน่นอน ซึ่งความผันผวน คือ โอกาสของเรา ปีนี้คือปีที่ใช่ แต่ต้องรอเรื่องเฟด ตลาดพร้อมขึ้นเสมอ รอเฟดคงที่ สินทรัพย์บางอย่างขึ้นไปแล้ว ตอนนี้เห็นราคาไหนที่รับได้ก็ให้ซื้อไว้เลย ปีที่แล้วมันยาก เพราะสินทรัพย์มันสวิง ขณะนี้ถ้าเรารักจะลงทุน 2-3 ปีนี้ เราต้องวางโรดแมปในการลงทุน เพราะไม่แน่ใจว่าจะไปทางไหน ลงเท่าไร จังหวะเวลาคืออะไร ถ้าเรามองทะลุว่าอะไรจะเกิดขึ้น การลงทุนจะเกิดขึ้นต่อเนื่องได้ นี่คือหัวใจ” ดร.กอบศักดิ์กล่าว