นายนภสินธ์ บุญล้อม หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดกิจกรรมโครงการวัฒนธรรมสัญจรสำหรับคณะทูตานุทูตและคู่สมรส จาก 28 ประเทศทั่วโลก จำนวน 47 คน เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ แหล่งมรดกโลกบ้านเชียง อ.หนองหาน จังหวัดอุดรธานี และหนองบัวลำภู
กิจกรรมนี้เพื่อเยี่ยมชมวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทย ตลอดจนการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แหล่งมรดกของไทย โดยเฉพาะแหล่งมรดกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้ว และที่ได้รับการขึ้นบัญชีเบื้องต้น (Tentative List) เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งมรดกโลก ให้ประจักษ์ต่อสายตาของชาวต่างประเทศ คือ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธรนี
โดยมีนางถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวดารณี ธรรมโพธิ์ดล ที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายนิติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และหน่วยราชการสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้การต้อนรับ
จากนั้นในช่วงตอนค่ำของวันเดียวกัน จังหวัดอุดรธานีและกระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดเลี้ยงต้อนรับคณะทูตานุทูตจาก 28 ประเทศ ในบรรยากาศของขนบธรรมเนียมและประเพณีวัฒนธรรมอีสาน มีการคล้องผ้าขาวม้าต้อนรับคณะทูตานุทูต ชมการแสดงดนตรีพื้นบ้าน การแสดงนาฏศิลป์
ส่วนที่จังหวัดหนองบัวลำภู คณะได้เยี่มชมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม โดยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น และภูมิปัญญาดั้งเดิม มาต่อยอดให้มีความทันสมัย ตอบรับกับกระแสโลก ควบคู่ไปกับนโยบายของรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนจากทรัพย์สินทางวัฒนธรรม อันนำไปสู่ความผาสุกของชุมชนท้องถิ่น
นายนิติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าว่า จังหวัดอุดรธานีมีความยินดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้ต้อนรับคณะทูตานุทูต และแขกผู้มีเกียรติทุกท่านสู่จังหวัดอุดรธานี เนื่องในโครงการวัฒนธรรมสัญจร ที่จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงวัฒนธรรม
ทั้งนี้ อุดรธานีเป็นจังหวัดศูนย์กลางที่สำคัญของภูมิภาค ในการเชื่อมโยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และส่วนอื่น ๆ ของประเทศ รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่ออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จังหวัดอุดรธานีเป็นที่รู้จักในเรื่องอารยธรรมโบราณ และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้รับการขึ้นทะเบียน ให้เป็นมรดกโลกทางประวัติศาสตร์ จากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO)มาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2535
นอกจากนี้ อุดรธานียังมีพิพิธภัณฑ์เมือง โดยเฉพาะอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือฯ เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งประวัติศาสตร์ โบราณคดี ขนบธรรมเนียมท้องถิ่น และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่มีความเป็นมามีวิถีชีวิตของชนชาติโบราณในพื้นที่กว่า 3,000 ปี มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์งานฝีมือท้องถิ่น อาทิ การทอผ้าโบราณ และวิถีชีวิตเรียบง่ายในชุมชนต่าง ๆ ของจังหวัดอุดรธานี
ประชาชนชาวจังหวัดอุดรธานีมีความยินดี ที่ได้นำเสนอจังหวัดอุดรธานีต่อคณะทูตานุทูต และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน จังหวัดอุดรธานี ไม่เพียงแต่รุ่มรวยในแง่ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม อุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมก้าวสู่อนาคต เพื่อเน้นย้ำบทบาทของจังหวัดในการเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของไทย
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ(ป่าเขือน้ำ) บนเทือกเขาภูพาน อยู่ทางทิศตะวันตก ห่างจากตัวอำเภอบ้านผือประมาณ 12 ก.ม เป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง จำนวน 2 แหล่ง ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทและแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน รวมพื้นที่ถูกนำเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลก จำนวน 585.955 เอเคอร์ หรือ 3,662 ไร่ 89 ตารางวา) และพื้นที่กันชน 598.806เอเตอร์ หรือ 3,742 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา
ในการสำรวจอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ได้พบหลักฐานสำคัญ คือ ภาพเขียนสี อยู่ตามเพิงหิน ที่ปรากฏกระจายอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มากกว่า 47 แห่ง มีทั้งภาพคน ภาพฝ่ามือ ภาพสัตว์ และลวดลายเรขาคณิต ชี้ให้เห็นถึงการเข้ามาใช้พื้นที่ของคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว
มีความสัมพันธ์กับหลักฐานทางโบราณคดี ที่มีการค้นพบขวานหินขัด ลูกปัดอาเกต และเศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องดิน ที่พบอยู่ตามที่ราบริมน้ำโขงเชิงเขาภูพาน ยุคต่อเนื่องมาเมื่อวัฒนธรรมทางศาสนาได้แผ่เข้ามาในดินแดนไทย สมัยวัฒนธรรมทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ถูกนำเสนอเข้าสู่บัญชีมรดกโลก เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมภายใต้เกณฑ์ข้อที่ 3 และข้อที่ 5 ซึ่งตามเกณฑ์ข้อที่ 3 เป็นพยานหลักฐานสำคัญที่ยอดเยี่ยม หรือหาที่เสมอเหมือนไม่ได้ของประเพณีวัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่หรือสูญหายไปแล้ว ส่วนเกณฑ์ข้อที่ 5 เป็นตัวอย่างลักษณะอันเด่นชัด หรือของขนบธรรมเนียมประเพณี แห่งสถาปัตยกรรมวิธีการก่อสร้าง หรือการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่มีความเปราะบางด้วยตัวเอง หรือเสื่อมสลายได้ง่าย เพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่สามารถกลับคืนดังเดิมได้ หรือเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ซึ่งอุทยานประวัติศาตร์ภูพระบาท บ้านผือ จากหลักฐานโบราณคดีได้พบว่า บริเวณนี้มนุษย์เข้ามาใช้พื้นที่ทำกิจกรรมแล้วตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ซึ่งได้มีการนำส่งเอกสารที่จัดทำและเกี่ยวข้องไปยังศูนย์มรดกโลก ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณา และจากนั้นรอการตรวจประเมินอย่างเป็นทางการ โดยผู้เชี่ยวชาญจากอิโคโมส องค์การที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการตรวจประเมินในเดือนกันยายน 2566 นี้