อุดรฯลุ้นขึ้นทะเบียนมรดกโลกแห่งที่2 อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท 

27 ม.ค. 2566 | 05:45 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ม.ค. 2566 | 05:58 น.

ชาวอุดรธานีมีความหวังจะมีมรดกโลกแห่งที่สองในจังหวัด  ครม.เห็นชอบ ให้เสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม ชี้กระตุ้นเศรษฐกิจพื้นที่

ที่ประชุมครม.วันที่ 24 ม.ค.2566 มีมติเห็นชอบ การเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรกดโลกทางวัฒนธรรม จาก UNESCO ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ   

นายนภสินธุ์  บุญล้อม หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท บ้านผือ จ.อุดรธานี เปิดเผยกับว่า ข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องน่ายินดี โดยครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ 2 ในการเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี จากที่เคยเสนอขอขึ้นทะเบียนไปครั้งที่แล้วเมื่อพ.ศ.2558 แต่คณะกรรมการพิจารณา ให้กลับมาแก้ไขปรับปรุงข้อมูลให้มีรายละเอียดชัดเจน และตรงประเด็นมากขึ้น 

อุดรฯลุ้นขึ้นทะเบียนมรดกโลกแห่งที่2 อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท 

อุดรฯลุ้นขึ้นทะเบียนมรดกโลกแห่งที่2 อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท 

หลังจากกลับมาปรับปรุงข้อมูลรายละเอียดใหม่แล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้เสนอการขอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรกดโลก ให้ครม.พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งได้เห็นชอบให้  

1. เห็นชอบเอกสารนำเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก  

อุดรฯลุ้นขึ้นทะเบียนมรดกโลกแห่งที่2 อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท 

อุดรฯลุ้นขึ้นทะเบียนมรดกโลกแห่งที่2 อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท 

2. เห็นชอบให้ประธานกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ลงนามในเอกสารนำเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกต่อศูนย์มรดกโลก  กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส      

3. กรณีที่ศูนย์มรดกโลก หรือองค์กรที่ปรึกษา มีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะให้ดำเนินการปรับแก้ไข หรือเพิ่มเติมเอกสารการเสนออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก โดยไม่กระทบต่อสาระสำคัญของเอกสารฯ ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เสนอต่อคณะกรรมการฯ พิจารณา และดำเนินการต่อไป 

อุดรฯลุ้นขึ้นทะเบียนมรดกโลกแห่งที่2 อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท 

นายนภสินธุ์ กล่าวต่อว่า อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บ้านเผือ จ.อุดรธานี ครอบคลุมพื้นที่ 585.955 เฮกตาร์ หรือ 3,662 ไร่ 89 ตารางวา ประกอบด้วยแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม จำนวน 2 พื้นที่ ประกอบด้วยเข้าด้วยกัน ได้แก่ 1) อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท  ประมาณ 3,599 ไร่ และ 2)  แหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน  ประมาณ 62 ไร่ ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน ซึ่งเป็นภูเขาหินทราย พบหินธรรมชาติที่มีรูปแบบพิเศษ เกิดจากการสึกกร่อนตามธรรมชาติ เป็นลักษณะของเพิงหินในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก 

นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ ที่แสดงถึงการเข้ามาใช้พื้นที่ของคนตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เป็นภาพเขียนสีตามเพิงหินมากกว่า 47 แห่ง มีอายุมากกว่า 3,000 ปี  โดยเชื่อว่าภาพเขียนสีเหล่านี้สร้างขึ้นเนื่องในพิธีกรรมความเชื่อ และมีความสัมพันธ์กับหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบ อาทิ ขวานหินขัด ลูกปัดหินอาเกต และเศษภาชนะดินเผาเนื้อเครื่องดิน ที่พบอยู่ตามที่ราบริมลำน้ำโมง เชิงเขาภูพานด้านทิศตะวันออก 

จนเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ อิทธิพลความเชื่อทางพุทธศาสนาในวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) ได้เข้ามาสู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และก่อให้เกิดแหล่งวัฒนธรรมสีมาทั่วทั้งภูมิภาค แต่เฉพาะที่แหล่งมรดกวัฒนธรรมแห่งนี้ ที่พบการผสมผสานความเชื่อเรื่องหลักหินศักดิ์สิทธิ์ กับการกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์โดยการปักหลักหิน (สีมา) ล้อมรอบเพิงหินศักดิ์สิทธิ์ 

พบทั้งที่เป็นแท่งหินธรรมชาติจนพัฒนามาเป็นทรงสี่เหลี่ยมมุมมนและรูปใบสีมา และต่อมาเริ่มมีการสลักลวดลายบนใบสีมา และยังคงพบหลักฐานการใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่องสืบเนื่องมาจนถึงในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่พบหลักฐานการเข้ามาใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยประวัติศาสตร์

โดยปรากฏวัฒนธรรมโดดเด่นที่เรียกว่า “สีมา” ในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 ในพื้นที่นี้ คือ การปักสีมาล้อมรอบหลักหินจนกลายเป็นลานศักดิ์สิทธิ์ หรือ ลานมณฑลพิธี ที่ปรากฏเพียงแห่งเดียว และยังคงสภาพสมบูรณ์ครบถ้วนที่สุดในประเทศไทยและในเอเชียอาคเนย์

นายนภสินธุ์กล่าวถึงผลดีที่จะเกิดขึ้นกับจังหวัดอุดรธานี หากอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมในอนาคต ว่า จะทำให้จังหวัดอุดนธานีมีแหล่งมรดกโลกถึง 2 แห่ง ซึ่งจะเป็นสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดอุดรธานี ในด้านของแหล่งวัฒนธรรเก่าแก่ ซึ่งปัจจุบันก็มีแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง อ.หนองหาน ที่เป็นที่รู้จักของนักวิชาการและนักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว 1 แห่ง  ซึ่งจะทำให้นักวิชาการ นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังพื้นที่มากยิ่งขึ้น จากที่ปัจจุบันนี้ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่สำคัญอยู่แล้ว 

“ผมเชื่อว่าในอนาคต อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จะได้รับการรับรองให้ขึ้นทะเบียบมรดกโลกอีกแห่งของประเทศ และของจังหวัดอุดรธานี เพราะมีความพร้อมและเข้าเกณฑ์กำหนด  ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมความสำคัญและคุณค่าของพื้นที่ ให้เป็นแหล่งศึกษาทางประเพณีวัฒนธรรมเก่าแก่ของภูมิภาคนี้ รวมทั้งจะส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวในทุกระดับ สร้างเศรษฐกิจให้หมุนเวียนในพื้นที่ชุมชนมากยิ่งขึ้น” นายนภสินธุ์ฯกล่าว