นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยว่า ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ เริ่มกลับมาเร่งตัวขึ้น ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง เช่น ดัชนีราคาผู้ผลิตสูงกว่าคาด ตัวเลขการว่างงานต่ำสุดในรอบ 50 ปี ยอดขายบ้านและรถก็มีแนวโน้มฟื้นตัว
สะท้อนว่าความพยามของเฟด ในการควบคุมเงินเฟ้อด้วยการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงมาตลอดช่วงปีที่ผ่านมานั้นอาจยังไม่เพียงพอ และเฟดอาจจำเป็นต้องปรับทิศทางนโยบายการเงินให้เข้มงวดเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งคณะกรรมการเฟดหลายท่านก็เริ่มสั่งสัญญาณไปในทิศทางดังกล่าว
ทั้งนี้ จากการคำนวณโดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ โดยอิงตาม Taylor rule ชี้ว่า หากเงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 4% ไปตลอดทั้งปีนี้ เฟดอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยไปถึงระดับ 6% เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้สำเร็จ และหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 6% ก็จะมีโอกาสที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้สหรัฐฯ (Bond yield) จะเพิ่มขึ้นไปถึง 4.1% ส่งผลกดดันต่อมูลค่าหุ้น (Valuation) ให้ลดลงราว 5% จากระดับปัจจุบัน
หาจังหวะลงทุนตราสารหนี้ ล๊อกผลตอบแทน
นอกจากนี้ ปัจจุบันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพง โดยดัชนี S&P500 เทรดอยู่ที่ระดับ P/E ราว 18 เท่า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ยกเว้นช่วงฟองสบู่ดอทคอมในปี 2543 และช่วงโควิดในปี 2563 ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับขึ้นที่จำกัดและมีความเสี่ยงขาลงมากกว่า จึงแนะนำให้นักลงทุนใช้โอกาสที่ Bond yield กลับมาปรับขึ้น หาจังหวะในการเข้าลงทุนในตราหนี้สหรัฐฯ ระยะยาว เพื่อล๊อกผลตอบแทนในช่วงที่ Bond yield เข้าใกล้ระดับ 4%
ทั้งนี้ตามประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดในเดือนธันวาคม เฟดคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะลดลงไปที่ระดับ 3.5% ปลายปีนี้ และเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปที่ระดับ 5.25% และคงไว้ไปตลอดทั้งปี แต่หากอัตราเงินเฟ้อไม่ลดลงตามที่คาด เฟดก็อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปสูงกว่าที่เคยส่งสัญญาณ
"หากเงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 4% ไปตลอดทั้งปีนี้ จากการคำนวณของเราโดยอิงตาม Taylor rule ชี้ว่าเฟดอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยไปถึงระดับ 6% เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้สำเร็จ ซึ่งเราประเมินว่าหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 6% Bond yield สหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นไปถึง 4.1% ซึ่งจะส่งผลกดดันต่อ Valuation ของตลาดหุ้นให้ลดลงราว 5% จากระดับปัจจุบัน” นายคมศรกล่าว