การฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบียในทุกมิติในรอบ 32 ปี หลังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้นำคณะเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25-26 มกราคม 2565 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แจ้งข่าวดีต่อคนไทยหลังการเดินทางเยือนว่า ไทยและซาอุฯได้บรรลุความสำเร็จในการฟื้นฟูความสัมพันธ์สู่ระดับปกติแล้ว นำมาซึ่งการขยายโอกาสระหว่างกันใน 9 ด้าน ที่โดดเด่นเวลานี้คือด้านการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน และด้านแรงงาน ที่ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ทั้งนี้ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร เผยว่า ในปี 2565 ครบรอบ 1 ปีฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 323,113.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.64% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยไทยส่งออก 71,386.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.46% และนำเข้า 251,727.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.69% โดยไทยขาดดุลการค้าซาอุฯ 180,340.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.78% จากส่วนใหญ่เป็นการนำเข้านํ้ามันดิบ นํ้ามันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ และเคมีภัณฑ์ที่ในปีที่ผ่านมาราคาปรับตัวสูงขึ้นจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การค้าไทย-ซาอุดิอาระเบีย หลังฟื้นความสัมพันธ์รอบ 1 ปีที่ผ่านมาขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการนำเข้าและการส่งออก หลังทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนคณะเดินทางระหว่างกันหลายคณะ (กราฟิกประกอบ)ในปี 2565 การส่งออกไทยไปซาอุฯเติบโตถึง 23%(สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ) และในเดือนมกราคมปีนี้ยังเติบโตต่อเนื่อง
ส่วนด้านการท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวซาอุฯมาไทยเกือบ 1 แสนคน มากกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิดที่มีเข้ามาประมาณ 3 หมื่นกว่าคนต่อปี ซึ่งจากที่ไทยเปิดประเทศอย่างต็มรูปแบบ คาดจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวซาอุฯให้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดอย่างแน่นอน
ด้านการลงทุน ปัจจุบันมีภาคเอกชนไทยที่ได้เข้าไปลงทุนในซาอุฯแล้ว เช่น PTT OR ที่ให้สิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์ เปิดให้บริการร้านคาเฟ่ อเมซอนเป็นสาขาแรกแล้ว ณ กรุงริยาด และมีแผนจะขยายอีกกว่า 150 สาขาภายใน 10 ปี ด้าน SCG International ได้เปิดสำนักงานที่ซาอุฯเช่นกัน นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและ Wellness (สุขภาพ) ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนซาอุฯ ซึ่งมีความต้องการให้นักลงทุนไทยเข้าไปร่วมลงทุนด้านธุรกิจโรงแรม การตั้งศูนย์ส่งต่อผู้ป่วย การจัดคอร์สเทรนนิ่งในธุรกิจ Wellness การจัดการในสถานประกอบการ ซึ่งบริษัทไทยที่ได้เริ่มร่วมมือกับฝ่ายซาอุฯในตอนนี้ เช่น ไมเนอร์ กรุ๊ป และชีวาศรม เป็นต้น
ขณะที่ในการจัดประชุม Thai-Saudi Investment Forum เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2565 ทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) 27 ฉบับ มีการจับคู่เจรจาธุรกิจมากกว่า 500 คู่ คาดก่อให้เกิดมูลค่าการค้าใหม่ 3 หมื่นล้านบาท และสร้างการลงทุนใหม่ระหว่างกันมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทภายในปี 2566
สำหรับแผนงานหลัก ๆ ของสภาหอการค้าฯในปีนี้คือการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ต่อยอดจากปีที่แล้วที่ได้มีการเดินทางเยือนซาอุฯและลงนาม MOU จัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งจะเป็นเวทีผลักดันและส่งเสริมการขยายตลาดส่งออกสินค้าของไทย รวมถึงธุรกิจบริการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องในตลาดซาอุฯ เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาการค้าที่คาดว่าจะสามารถซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ไม่ตํ่ากว่า 1 หมื่นล้านบาทภายในหนึ่งปี
“ในปีนี้สภาหอการค้าฯมีแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าไทย-ซาอุฯ โดยมีแผนที่จะร่วมกับภาครัฐจัดทัพนักธุรกิจไทยเดินทางเยือนซาอุฯในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เพื่อกระชับความสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายนักธุรกิจของสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากขึ้น นอกจากนี้มีแผนที่จะร่วมกับบริษัทเอกชนของไทยในการจัดงานแสดงสินค้า THAILAND MEGA FAIR & FESTIVAL 2023 ณ กรุงริยาด เพื่อแสดงสินค้าและบริการเพื่อโชว์นวัตกรรมใหม่ๆ ของภาคธุรกิจไทย อาทิ ธุรกิจอาหาร ท่องเที่ยว สุขภาพและความงาม ด้านเกษตร พลังงาน และหุ่นยนต์และโรบอติกส์ ฯลฯ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด ซึ่งในรายละเอียดจะแจ้งให้ทราบต่อไป”
ด้าน นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยว่า การส่งออกของไทยไปซาอุดิอาระเบียในปีที่ผ่านมาถือว่าขยายตัวตามที่ สรท.คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทำได้ที่ 2,048.28 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 23.98% สินค้ากลุ่มส่งออกอันดับต้น ๆ และขยายตัวได้ดี เช่น รถยนต์ และชิ้นส่วน, เครื่องปรับอากาศ, อาหาร และอัญมณีและเครื่องประดับ
ในปี 2566 คาดส่งออกไทยไปซาอุฯยังขยายตัวต่อเนื่องโดยจะมีมูลค่า 2,200-2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แผนงาน /กิจกรรมสำคัญในปีนี้ เช่น การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่จัดในซาอุฯ และจะร่วมภาครัฐในการจัดคณะนักธุรกิจไทยเยือนซาอุฯเพื่อจับคู่ขยายธุรกิจ(บิสเนส แมชชิ่ง) ซึ่งจะได้นำเสนอแผนงานต่อรัฐบาลใหม่ต่อไป
ขณะที่ นายอัครวุฒิ ตั้งศิริกุศลวงศ์ ประธานบริหารเวก้า กรุ๊ปส์ เผยว่า จากความสำเร็จในการจัดตั้งไทยมาร์ท ที่ประเทศบาห์เรน ศูนย์การค้าสินค้าไทยแห่งแรกในตะวันออกกลาง ล่าสุดทางกลุ่มมีแผนจะจัดตั้งไทยมาร์ท ณ กรุงริยาด ซาอุดิอาระเบีย เพื่อขยายตลาดสินค้าและบริการของไทย จากที่ผ่านมาชาวซาอุฯชื่นชอบในสินค้าไทย และเป็นอีกกลุ่มลูกค้าหลักของไทยมาร์ท บาห์เรน ที่มีพรมแดนติดกัน
“ความคืบหน้าอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ร่วมลงทุนซึ่งเป็นบริษัทด้านเรียลเอสเตทในซาอุฯ 3 ราย คาดจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้ และเริ่มดำเนินโครงการได้ในปีหน้า เบื้องต้นคาดจะมีพื้นที่ประมาณ 1 หมื่นตารางเมตร ใช้งบลงทุนประมาณ 850-1,000 ล้านบาท สินค้าและผู้ประกอบการไทยที่เป็นเป้าหมายของโครงการนี้ ได้แก่ กลุ่มอาหาร แฟชั่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง ธุรกิจแฟรนไชส์ ท่องเที่ยว โรงพยาบาล นวดแผนไทย สปา เป็นต้น”
ขณะที่ตลาดแรงงานในซาอุฯ เป็นอีกหนึ่งความคาดหวังที่ถูกจับตา จากระหว่างปี 2523-2533 ซาอุฯเป็นประเทศที่มีแรงงานไทยไปทำงานมากที่สุด เฉลี่ยปีละกว่า 300,000 คน แต่หลังตัดความสัมพันธ์ทางการทูตไทยหยุดส่งแรงงานไปซาอุฯ 32 ปี ทำให้เหลือแรงงานไทยอยู่ทำงานในซาอุฯเพียงประมาณ 1,300 คน
ล่าสุดหลังการฟื้นความสัมพันธ์ ได้มีการลงนามความตกลงด้านแรงงานระหว่างกัน แต่ผลจากเป็นช่วงเริ่มต้นของการวางหลักเกณฑ์ต่างๆ ทำให้แรงงานไทยไปทำงานซาอุฯ เริ่มไปได้จริงในเดือนส.ค.2565 โดยสรุปทั้งปี 2565 มีแรงงานไทยไปซาอุฯรวม 35 คน และใน 2 เดือนแรกปี 2566 มีแรงงานไทยไปซาอุฯแล้ว 21 คน และจากนี้คาดจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3871 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2566