การฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ในรอบ 32 ปี นำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนการเดินทางของภาครัฐและเอกชน ไทย-ซาอุดีฯ เพื่อขยายการค้า การลงทุน และความร่วมมือในทุกมิติแล้วหลายคณะ ส่งผลให้เวลานี้ไทยและซาอุดีฯเป็นตลาดการค้าและการลงทุนใหม่ระหว่างกัน ที่นับวันจะยิ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกขณะ โดย 9 เดือนหลังฟื้นความสัมพันธ์ได้มีการลงนาม MOU ระหว่างภาครัฐและเอกชนของสองประเทศแล้ว 27 ฉบับ ล่าสุด (7 พ.ย. 65) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนแห่งซาอุดีฯได้นำคณะภาคเอกชนกว่า 200 ราย ร่วมงาน “Thai-Saudi Investment Forum” ในไทย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในเวที Thai - Saudi Investment Forum ครั้งนี้บีโอไอได้นำเสนอความโดดเด่นของประเทศไทยในการเป็นพื้นที่ที่ดีที่สุดสำหรับรองรับการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ด้วยจุดเด่นหลายด้าน เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่ดี ซัพพลายเชนที่ครบวงจร บุคลากรที่มีคุณภาพ ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ที่เชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และมี FTA กับหลายประเทศ ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงตลาดได้ทั่วโลก โดยเฉพาะความตกลง RCEP ที่ครอบคลุมประชากรกว่า 2,000 ล้านคน และมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันถึง 30% ของโลก
นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำนโยบายของรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมการลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ 5 อุตสาหกรรมมุ่งเป้าที่จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในอนาคต ได้แก่ BCG ยานยนต์ไฟฟ้า สมาร์ท อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และได้นำเสนอการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีและที่มิใช่ภาษี เพื่อเป็นแรงจูงใจสำหรับนักลงทุนจากซาอุดีฯ ให้เข้ามาลงทุนในไทยในหลายประเภทกิจการที่บีโอไอให้การส่งเสริมอยู่ในขณะนี้
เลขาธิการบีโอไอ กล่าวอีกว่า สำหรับอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มในการดึงดูดความสนใจของซาอุดีฯให้มาร่วมลงทุนในไทย เช่น อุตสาหกรรมพลังงาน อาหาร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ โรงแรม เกมและอีสปอร์ต เป็นต้น โดยในเรื่องเกมและอีสปอร์ต ไทยถือเป็นประเทศที่มีเกมเมอร์มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ซาอุดีฯมีการเล่นเกมและอีสปอร์ตมากที่สุดในตะวันออกกลาง ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีเทคโนโลยีที่น่าจะเสริมกันได้ โดยธุรกิจที่จะร่วมลงทุนในไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือระหว่างภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศ ซึ่งบีโอไอพร้อมเป็นหน่วยงานสนับสนุนให้เกิดการลงทุน และประสบความสำเร็จ
ด้านอุตสาหกรรมที่ซาอุดีอาระเบียสนใจดึงดูดต่างชาติเพื่อเข้าไปลงทุนตามวิสัยทัศน์ Vision 2030 ซึ่งภาคธุรกิจของไทยสามารถเข้าไปมีส่วนร่วม ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ พลังงานทดแทน เครื่องจักรกล ยานยนต์ อากาศยาน อาหารแปรรูป เป็นต้น เนื่องจากทางรัฐบาลซาอุดีฯมุ่งหวังให้เกิดการต่อยอดเศรษฐกิจของประเทศจากความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมต้นน้ำ โดยเฉพาะภาคพลังงาน ไปสู่อุตสาหกรรมปลายน้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะการสร้างฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศ
โดยนอกจากการจับมือกับ Lucid ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจากสหรัฐอเมริกาแล้ว รัฐบาลซาอุฯ ยังเพิ่งประกาศจับมือกับ Foxconn จากไต้หวัน ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ของตัวเองที่ชื่อ CEER ทำให้ซาอุฯ ต้องเร่งดึงการลงทุนขนานใหญ่เพื่อสร้างซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยด้วย
รายงานข่าวผลการประชุม Thai-Saudi Investment Forum ไฮไลท์สำคัญ นอกจากทั้งสองฝ่ายได้ลงนาม MOU ความร่วมมือการค้าการลงทุน 8 ฉบับ ในกลุ่มธุรกิจอาหารแปรรูป ธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแล้ว ยังมีกิจกรรมจับคู่นักธุรกิจ (บิสิเนส แมชชิ่ง) มากกว่า 500 คู่เจรจา คาดจะก่อให้เกิดมูลค่าการค้าใหม่ราว 3 หมื่นล้านบาท และสร้างการลงทุนใหม่ระหว่างกันมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2566
ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยว่าในงาน Thai-Saudi Investment Forum มีรูปธรรมความก้าวหน้าการลงทุนระหว่างไทย-ซาอุดีฯ ชัดเจนขึ้นตามลำดับ เช่น ซาอุดีฯอยู่ระหว่างพิจารณาให้ไทยเป็นสถานที่เก็บน้ำมันดิบในภูมิภาคอาเซียน และเอเชียตะวันออก ขณะที่กลุ่มสยามพิวรรธน์ผู้พัฒนาศูนย์การค้าระดับโลก เช่น สยามพารากอน ไอคอนสยาม มีความสนใจที่จะร่วมลงทุนในการพัฒนา “เดอะไลน์” เมืองใหม่แห่งอนาคตของซาอุดีฯ รวมถึงมีการเจรจาธุรกิจของทั้งสองฝ่ายในธุรกิจที่หลากหลายซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยง และพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของทั้งสองประเทศในอนาคต