ทิศทางลงทุนสดใส ไตรมาสแรกอุตสาหกรรมเติบโต

17 มี.ค. 2566 | 07:36 น.
อัพเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2566 | 07:45 น.

ทิศทางลงทุนสดใส ไตรมาสแรกอุตสาหกรรมเติบโต : คอลัมน์รอบด้านการนิคมฯ โดย...รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3870

สวัสดีครับท่านผู้อ่านฐานเศรษฐกิจและผู้อ่านคอลัมน์รอบด้านการนิคมฯ เรากำลังจะเข้าสู่เดือนสุดท้ายของไตรมาสแรกกันแล้วนะครับ ตามที่หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างคาดการณ์ไว้ว่า ปีนี้เศรษฐกิจในประเทศ และต่างประเทศ จะฟื้นตัว  

โดยปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการที่จีนเปิดประเทศ และมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศที่ผ่อนคลายลงใกล้เคียงกับช่วงปกติ ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการช็อปดีมีคืนช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ และการขยายตัวของผลผลิตการเกษตร โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูก สร้างผลผลิตต่อเนื่องให้กำลังซื้อจากภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้น เป็นต้น 

แม้มุมมองของนักวิเคราะห์ต่อการลงทุนในไตรมาสแรกของปี มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ อย่างไรก็ตามแนวโน้มเศรษฐกิจในฝั่งตะวันตกยังอยู่ในภาวะทรงตัว อาจจะทำให้กระแสเงินบางส่วนของนักลงทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้าสู่ตลาดพัฒนาแล้ว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด 

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แซิฟิก (เอเปค) และการเดินสายชักจูงการลงทุนของหน่วยงานภาครัฐ ทำให้เกิดความร่วมมือที่จะค่อยๆ เห็นภาพการลงทุนชัดเจนขึ้นในปีนี้ สอดคล้องกับประมาณการอัตราการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.5

 

ภาพที่สะท้อนชัดเจนว่า แนวโน้มภาคอุตสาหกรรมยังคงสดใสคือ มีการขยายพื้นที่นิคมฯ รองรับการลงทุนที่กำลังจะขยายตัวในอนาคต โดยเมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ. หรือบอร์ด กนอ. ได้อนุมัติให้ขยายพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 5) ส่วนขยาย จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ 1,155 ไร่ ที่ตำบลเขาคันทรง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี  

เป็นการขยายจากพื้นที่เดิมในที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) ซึ่งโครงการดังกล่าวสอดรับกับนโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาล ที่วางเป้าหมายการลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทในปี 2566 และยังมีการขยายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล อ.มาบตาพุด จ.ระยอง เนื้อที่ประมาณ 284.66 ไร่ 

นอกจากนี้ อานิสงส์ที่เกิดจากการร่วมมือกันของภาครัฐของไทย และจีน ในการประชุมเอเปค คือ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสการเยือนไทยของประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการประชุมเอเปค ซึ่งเป็นความร่วมมือสำคัญในระดับประเทศที่ขับเคลื่อน 

โดย กนอ. ซึ่งการลงนามดังกล่าวถือเป็นความตั้งใจของทั้ง 2 กระทรวง โดย กนอ. เป็นหน่วยงานหลักในการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงานฯ ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ เพื่อเชื่อมโยงนโยบาย "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiatives) กับนโยบายไทยแลนด์ 4.0  

โดยมุ่งเน้นที่การส่งเสริมการลงทุน การแลกเปลี่ยนข้อมูล การสนับสนุนขีดความสามารถด้านความร่วมมือของอุตสาหกรรมด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าของห่วงโซ่ในภาคการผลิต พร้อมทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในอนาคต

                  ทิศทางลงทุนสดใส ไตรมาสแรกอุตสาหกรรมเติบโต

ขณะเดียวกันทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบาย การสนับสนุนและการจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน ความร่วมมือการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC และ SEZS หรือพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสม

สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาทักษะแรงงาน รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานปฏิบัติ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตในอนุภูมิภาคต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณจากภาคเอกชนที่แสดงความสนใจลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม และจะทยอยเห็นการลงทุนที่ชัดเจนในไตรมาสนี้ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยการตัดสินใจลงทุนของ BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน ที่ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกในอาเซียน

การลงทุนของ Foxconn และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมลงทุนในการจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ หนองใหญ่ ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำจุดแข็งของประเทศไทย ที่มีความสมบูรณ์ของซัพพลายเชน กลุ่มยานยนต์ ที่พร้อมดึงดูดนักลงทุนอุตสาหกรรมรายใหญ่จากนานาประเทศ ซึ่งการลงทุนของทั้งสองบริษัทนี้ เป็นตัวกระตุ้นให้ค่ายรถในเอเชีย เริ่มเข้ามาศึกษาลู่ทางการลงทุนและอยู่ระหว่างการตัดสินใจ  

กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะนักลงทุนสัญชาติใต้หวัน จีน ญี่ปุ่น ให้ความสนใจย้ายฐานการผลิตมาลงทุนที่ไทย รวมถึงการขยายการลงทุนของนักลงทุน ที่ปัจจุบันมองว่า ไทยมีความแข็งแรงและมีความพร้อมรองรับการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง กลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา และการผลิตล้อยาง

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสแรกของปีนี้เศรษฐกิจไทย และภาคอุตสาหกรรมยังคงมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องติดตามข่าวสาร เรียนรู้ตลาด เพื่อรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาครับ