หลังจาก "กรมทางหลวง" ได้เปิดให้บริการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 ส่วนต่อขยายช่วงพัทยา-มาบตาพุด แล้ว ล่าสุดได้เร่งเดินหน้าเตรียมเปิดประมูลเพื่อหาเอกชนก่อสร้างมอเตอร์เวย์ต่อขยายเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา ที่จะเชื่อมการเดินทางแบบไร่รอยต่อได้ในอนาคต
รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเข้าสนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 4,508 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง วงเงิน 3,960 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน วงเงิน 135 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด วงเงิน 305 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 108 ล้านบาท
หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กรมฯดำเนินงานก่อสร้างโครงการฯ โดยให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้สำหรับค่าก่อสร้างและค่าควบคุมงานตามแผนบริหารหนี้สาธารณะนั้น ขณะนี้กรมฯอยู่ระหว่างรอกระทรวงการคลังเจรจาเพื่อขอใช้แหล่งเงินกู้กับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) คาดว่าจะเจรจาแล้วเสร็จภายในปีนี้
ขณะเดียวกันหลังการเจรจาเพื่อขอใช้แหล่งเงินกู้เพื่อเดินหน้าโครงการฯ ดังกล่าวแล้ว กรมฯจะดำเนินการประกาศประกวดราคาและลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนได้ภายในเดือนตุลาคม 2566 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2567 ระยะเวลาก่อสร้างราว 2 ปีกว่า คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569
“ส่วนสาเหตุที่กรมฯไม่ได้ประมูลโครงการฯ ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เนื่องจากโครงการฯมีแนวเส้นทางต่อขยายเพื่อเชื่อมสนามบินอู่ตะเภาเท่านั้น ซึ่งไม่ได้มีการจัดเก็บค่าผ่านทาง แต่เป็นการเพิ่มความสะดวกในการเดินทางให้ผู้ใช้บริการสนามบินอู่ตะเภาในอนาคต”
ส่วนการเวนคืนที่ดินนั้น ขณะนี้กรมฯได้ดำเนินการจ่ายค่าทดแทนเวนคืนที่ดินใกล้แล้วเสร็จ คาดว่าจะดำเนินการจ่ายทดแทนค่าเวนคืนที่ดินครบทั้งหมดภายในปี 2567 ซึ่งโครงการฯมีการขอใช้พื้นที่ของกองทัพเรือเป็นส่วนใหญ่ประมาณ 80% โดยเอกชนสามารถเข้าพื้นที่เพื่อเริ่มก่อสร้างได้ทันที ขณะที่พื้นที่ที่มีการเวนคืนที่ดินจากประชาชนสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ต่อเมื่อกรมฯดำเนินการจ่ายค่าทดแทนเวนคืนแล้วเสร็จ
สำหรับพื้นที่ที่ถูกเวนคืนทั้งหมด 21 แปลง 87 ไร่ แบ่งเป็นการขอใช้พื้นที่ของกองทัพเรือ จำนวน 72 ไร่ พื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 5 ไร่ และพื้นที่เวนคืนของประชาชน จำนวน 10 ไร่ อาคารและสิ่งปลูกสร้าง 3 หลัง ซึ่งไม่ได้ติดปัญหาของพื้นที่การก่อสร้าง
“หากโครงการฯก่อสร้างแล้วเสร็จก็ยังคงต้องรอให้สนามบินอู่ตะเภาก่อสร้างเสร็จพร้อมเปิดให้บริการด้วย เพราะหากกรมฯเปิดให้ประชาชนใช้บริการก่อนสนามบินอู่ตะเภาเปิดให้บริการ จะทำให้แนวเส้นทางของโครงการฯยังไม่สามารถเชื่อมเข้าสนามบินดังกล่าวได้ ซึ่งกรมฯมั่นใจว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จก่อนสนามบินอู่ตะเภาเปิดให้บริการแน่นอน โดยระหว่างที่โครงการฯก่อสร้างแล้วเสร็จ ช่วงนี้กรมฯจะให้กองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รับผิดชอบดูแลไปก่อน"
ทั้งนี้จากการศึกษาโครงการฯ มีผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ดังนี้ ด้านผลการวิเคราะห์ประโยชน์ทางตรงต่อผู้ใช้ทาง (Direct Road User Benefit) มีอัตราผลตอบแทนการลงทุน (EIRR) อยู่ที่ 14.79% มูลค่าผลตอบแทนปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ที่ 1,089 ล้านบาท อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุน (B/C) อยู่ที่ 1.35 ส่วนผลการวิเคราะห์ด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคตะวันออก ส่งผลให้ผลผลิตรวม (Gross output) เพิ่มขึ้น 10,167 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์มวลรวมเพิ่มขึ้น 0.31%
ส่วนการเปิดจุดเชื่อมต่อจาก ทล.7เข้าสู่สนามบินอู่ตะเภาโดยตรง จะช่วยแบ่งเบาการจราจรบริเวณทางแยกต่างระดับอู่ตะเภา โดยคาดการณ์ในปี 2568 หรือปีเปิดให้บริการ จะมีปริมาณจราจรจาก ทล.7 มุ่งสู่สนามบินอู่ตะเภา 22,000 คันต่อวัน และเพิ่มขึ้นเป็น 27,600 คันต่อ วัน และ 41,300 คันต่อวัน ในปีที่ 10 และปีที่ 30 ตามลำดับ
สำหรับรูปแบบการก่อสร้างของโครงการฯ เป็นการก่อสร้างทางยกระดับแนวใหม่ขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ระยะทาง 1.920 กิโลเมตร (กม.) และมีทางบริการระดับพื้นเพื่อรองรับการสัญจรบริเวณใต้ทางยกระดับ
โดยก่อสร้างช่องทางเลี้ยวและทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัดกับ ทล. 3 และปรับปรุง ทล. 3 ขยายจาก 4 ช่องจราจร เป็น 8 ช่องจราจร รวมทั้งก่อสร้างสะพานกลับรถ (U-Turn) บน ทล.3 ซึ่งโครงการฯจะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง เนื่องจากส่วนต่อขยายฯ อยู่นอกบริเวณด่านอู่ตะเภา และไม่มีการสร้างด่านเก็บค่าผ่านทางเพิ่มเติม