คลังชี้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทบส่งออก ก.พ. ติดลบ 4.7%

30 มี.ค. 2566 | 12:08 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2566 | 12:09 น.

คลังเผยเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทบส่งออกเดือนก.พ.66 ติดลบ 4.7% ชี้เศรษฐกิจไทยยังได้รับปัจจัยหนุนจากบริโภคภาคเอกชน-การท่องเที่ยวขยายตัว ระบุแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เครื่องยนต์เศรษฐกิจด้านการส่งออกนั้น มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ 22,376.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -4.7

 

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ลดลงเพียงร้อยละ -0.05 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานสูงในช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้สินค้าส่งออกในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลง

 

อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกที่ยังขยายตัว ได้แก่

ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และน้ำตาลทราย โดยขยายตัวร้อยละ 95.0 61.6 และ 21.4 ตามลำดับ รวมทั้งสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่ขยายตัวร้อยละ 81.7 15.7 และ 3.6 ตามลำดับ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงตามอุปสงค์ที่ชะลอตัวของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ดี ตลาดที่ยังคงขยายตัว ได้แก่ ตลาดฮ่องกง ตะวันออกกลาง และอินเดีย ที่ขยายตัวร้อยละ 28.6 23.8 และ 3.9 ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนที่ปรับตัวดีขึ้น การท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย รวมถึงแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่อง

โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 10.1 และ 9.8 ตามลำดับ 

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.6 จากระดับ 51.7 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และสูงสุดในรอบ 36 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น รวมถึงความกังวลจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -10.0 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 1.0

สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -4.3 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 0.2 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.7 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 5.4 

ด้านภาคบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 2.11 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 1,283.3 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 16.5

“ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย รัสเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ จีน และอินเดีย ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จำนวน 20.1 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 31.8 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 8.9”

ทั้งนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี และแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าลดลงต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ร้อยละ 3.79 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.93 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 61.3 ต่อ GDP ตามกรอบวินัยการเงินการคลัง