ส่งออกก.พ.66 ทำได้มูลค่า 22,376.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 4.7% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 730,123.5 ล้านบาทติดลบ 5 เดือนติดต่อกัน เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอ เงินเฟ้อคู่ค้าพุ่ง ทำกำลังซื้อหด ส่งผลให้ไตรมาสแรกติดลบสูง ไตรมาส 2 ก็ยังลบอยู่ แต่จะฟื้นครึ่งปีหลัง มั่นใจเป้าทั้งปี 1-2% ทำได้ ส่งผลให้ 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ไทยส่งออกมูลค่า 42,625.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 4.6% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 1,430,250.2 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ประเมินว่าการส่งออกของไทยช่วงครึ่งปีแรกจะยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกปี 2566 ที่น่าจะหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวถึง 14.7% ตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ลดลง เนื่องจากประเทศคู่ค้าหลักยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ
โดยในช่วงครึ่งหลังของปีการส่งออกจะทยอยปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงตามแนวโน้มราคาพลังงาน และปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกที่ทยอยคลี่คลาย นอกจากนี้ แรงหนุนจากการยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์และการฟื้นตัวของกิจกรรมการผลิตของจีนที่จะส่งผ่านมายังภาคการส่งออกไทยมากขึ้น ตลอดจนการฟื้นตัวของภาคบริการและการท่องเที่ยวจะช่วยหนุนอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าในระยะต่อไป รวมทั้งปัจจัยฐานที่เริ่มต่ำลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกดดันที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป เป็นต้น
ทั้งนี้สนค. คาดว่ากลุ่มสินค้าที่จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันการส่งออกปี 2566 เป็นสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้ปัจจัยหนุนจากกระแสความมั่นคงทางอาหารและความต้องการสินค้าจำเป็นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว สินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งสินค้าที่ได้รับอานิสงส์จาก ข้อจำกัดด้านอุปทาน
การผลิตที่ผ่อนคลายลง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ตลอดจนสินค้าที่สอดรับกับ Megatrend ของโลก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจดูแลสุขภาพ
โดยสินค้าส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ เครื่องดื่ม ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และไอศกรีม
กลุ่มสินค้าที่ได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยว เช่น เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และเครื่องใช้สำหรับการเดินทาง
กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด (แผงโซลาร์) (4) กลุ่มสินค้าเกี่ยวกับการแพทย์และสุขภาพ อาทิ เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ เลนส์แว่นสายตา ตามเทรนด์สุขภาพ และสังคมผู้สูงอายุ
สินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหลังจากปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์คลี่คลายลง ทำให้ผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมรถยนต์สามารถเร่งการผลิตและการส่งออกตามคำสั่งซื้อได้ต่อเนื่อง