“ทางหลวง” กางแผนสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สาย 1.5 แสนล้าน

10 เม.ย. 2566 | 04:35 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2566 | 04:43 น.

“ทางหลวง” เปิดไทม์ไลน์สร้างมอเตอร์เวย์ 3 สาย 1.5 แสนล้านบาท แก้ปัญหารถติด เพิ่มประสิทธิภาพประชาชนเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดสะดวกมากขึ้น

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมฯได้เร่งดำเนินการโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ตามแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี (ปี 60-79) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคม ระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสู่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ 

 

สำหรับระยะเร่งด่วน ทล. เร่งผลักดันทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายใหม่อีก 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 201 กิโลเมตร (กม.) วงเงินรวม 155,826 ล้านบาท ได้แก่ 
 

1.ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 (M9) สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 70 กม. วงเงิน 71,295 ล้านบาท แบ่งการพัฒนาเป็น 2 ช่วง ดังนี้ ระยะที่ 1 ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.9 กม. วงเงินลงทุนก่อสร้าง 56,035 ล้านบาท ปัจจุบันคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) เห็นชอบในหลักการโครงการแล้ว คาดว่ากระทรวงคมนาคมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการภายในปี 66 ดำเนินการคัดเลือกเอกชน ในปี 67 ก่อสร้างในปี 68-70 เปิดบริการในปี 71

 

ทั้งนี้การก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ตามแนวถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก หรือถนนกาญจนาภิเษก จุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 วงแหวนกาญจนาภิเษก ด้านทิศใต้ โครงการทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 (M82) สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว และโครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก บริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน

 

จุดสิ้นสุดโครงการบริเวณจุดตัดทางแยกต่างระดับบางบัวทอง เชื่อมต่อโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ซึ่งดำเนินโครงการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยเอกชนลงทุนก่อสร้างงานโยธา และงาน Operation and Maintenance (O&M) โดยเอกชนรับรายได้จากค่าธรรมเนียมผ่านทางสถานะ
 

ส่วนระยะที่ 2 ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 34.1 กม. วงเงินลงทุนก่อสร้าง 15,260 ล้านบาท ปัจจุบัน ทล. อยู่ระหว่างเสนอแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (ปี 67-71) หากได้รับการอนุมัติจาก ครม. คาดว่าเริ่มการก่อสร้างในปี 68-70 เปิดบริการปี 71 

“ทางหลวง” กางแผนสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สาย 1.5 แสนล้าน

มอเตอร์เวย์ ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน เป็นการปรับปรุงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกเดิม ให้เป็นทางหลวงพิเศษระดับพื้นดินขนาด 6 ช่องจราจร จุดเริ่มต้นอยู่บริเวณ กม. 36 ปัจจุบัน คือ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ประมาณ กม. 50 บริเวณทางแยกต่างระดับบางบัวทอง เชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง สิ้นสุดที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน สามารถเชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (M6) สายบางปะอิน-นครราชสีมาได้

 

2.ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) ระยะทาง 22 กม. วงเงินค่าลงทุนก่อสร้าง 31,358 ล้านบาทปัจจุบันบอร์ด PPP เห็นชอบในหลักการโครงการแล้ว คาดว่ากระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการภายในปี 66 ดำเนินการคัดเลือกเอกชน ในปี  67 ก่อสร้างโครงการในปี 68-70 เปิดบริการในปี 71 

 

ส่วนรูปแบบก่อสร้างทางยกระดับช่วงรังสิต-บางปะอิน บนเกาะกลางถนนพหลโยธิน ขนาด 6 ช่องจราจร โดยมีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ปลายทางยกระดับอุตราภิมุขปัจจุบัน ที่ประมาณ กม. 34 ของถนนพหลโยธิน สิ้นสุดที่ประมาณ กม. 52 ของถนนพหลโยธิน บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน รวมถึงก่อสร้างทางยกระดับเชื่อมโยง M6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา ซึ่งดำเนินการในรูปแบบ PPP Gross Cost โดยเอกชนลงทุนในส่วนก่อสร้างงานโยธาและงาน O&M โดยรัฐเป็นผู้ได้รับรายได้ค่าผ่านทาง และจ่ายค่าตอบแทนการให้บริการให้แก่เอกชน 

“ทางหลวง” กางแผนสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สาย 1.5 แสนล้าน

3.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 (M8) สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. วงเงินก่อสร้างงานโยธารวม 53,173 ล้านบาท แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงนครปฐม-ปากท่อ 61 กม. วงเงิน 29,156 ล้านบาท และ ช่วงปากท่อ-ชะอำ 48 กม. วงเงิน 24,017 ล้านบาท 

 

โดยจะดำเนินการก่อสร้าง ช่วงนครปฐม-ปากท่อ ก่อน ปัจจุบัน ทล. อยู่ระหว่างเสนอแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (ปี 67-71) ลักษณะโครงการเป็นการก่อสร้างทางหลวงพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร จุดเริ่มต้นโครงการต่อเชื่อมกับ M81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่บริเวณทางแยกต่างระดับนครชัยศรี รวมถึงมีเส้นทางเชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 338 (ปิ่นเกล้า-นครชัยศรี) บริเวณจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถ.เพชรเกษม) แนวเส้นทางโครงการมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ไปสิ้นสุดบริเวณ กม. 73 ทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนธนบุรี-ปากท่อ) ระยะทางประมาณ 61 กม.

 

เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะรองรับการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศ สามารถแบ่งเบาการจราจรจากทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) และทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม2) และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเดินทางสู่ภาคใต้ รองรับการคมนาคมและขนส่งสินค้าเชื่อมต่อจากจังหวัดต่าง ๆ ในแถบภาคเหนือและภาคกลางตอนบนไปยังจังหวัดภาคใต้

 

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า ทล. ยังเร่งพัฒนาโครงการที่พักริมทาง (Rest Area) บนมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง ได้แก่ M6 M7 และ M81 โดยจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินโครงการ ในรูปแบบ PPP Net Cost 

 

นอกจากนี้ในปัจจุบัน ทล. มีโครงการที่พักริมทางที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชาและโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7

 

ทั้ง 2 โครงการ อยู่ระหว่างขั้นตอนการคัดเลือกเอกชน ตาม พรบ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนฯ พ.ศ. 2562 คาดว่าจะจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้กลางปี 66 เริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 67 เปิดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกบางส่วนในปี 68 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 69 

 

ส่วนโครงการที่พักริมทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา และโครงการที่พักริมทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ปัจจุบันอยู่ระหว่าง ทล. จัดทำร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน เพื่อเสนอคณะกรรมการคัดเลือกตามขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนต่อไป 

 

โครงการที่พักริมทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 เป็นการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางจำนวน 15 แห่ง แบ่งการบริหารเป็น 2 สัญญา ส่วนโครงการพักริมทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 จะเป็นการบริหารที่พักริมทางจำนวน 6 แห่ง แบบสัญญาเดียว

 

ด้านแผนการดำเนินการของทั้ง 2 โครงการ คาดว่าจะประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ปลายปี 66 เริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 67 เปิดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกบางส่วนในปี 68 รองรับการเปิดให้บริการมอเตอร์เวย์ M6 และ M81 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 69 

 

อย่างไรก็ตามที่พักริมทางถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เพื่อให้ผู้ใช้ทางได้แวะพักผ่อน ทำธุระส่วนตัว ผ่อนคลายความเมื่อยล้าจากการเดินทาง ช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากความเหนื่อยล้าหรือหลับใน เป็นการยกระดับมาตรฐานและการให้บริการของระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสู่มาตรฐานสากล