นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) และในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า วาระเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาบริหารจัดการมีหลายเรื่อง โดยที่ถือเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่ฝังอยู่ในสังคมไทยที่รัฐบาลต้องเร่งกอบกู้ หรือแก้ไขคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่เคยขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 90% ต่อจีดีพี เวลานี้แม้จะปรับลดลงบ้างมาอยู่ที่ระดับ 88-89% ต่อจีดีพี แต่ถือเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกส่งผลกดทับกำลังซื้อของประชาชน ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลจะอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการใส่เงินในโครงการต่าง ๆ แต่เปรียบเสมือนเป็นแค่ "ยาหม่อง" ที่ใช้ทาขมับเวลาปวดหัว แต่ไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาว ซึ่งรัฐบาลใหม่ต้องเร่งหาวิธีแก้ไขในเรื่องนี้
นอกจากนี้เรื่องเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลใหม่ ได้เร่งผลักดันคือการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ การช่วยเหลือเอสเอ็มอี จากเวลานี้แม้ภาคเศรษฐกิจในส่วนของภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นกลับมาแล้วแต่ปรากฎโรงแรมที่ได้อานิสงส์จากนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะต่างชาติคือ โรงแรมระดับ 4 ดาว 5 ดาวที่เป็นเชนจากต่างประเทศในเมืองหลัก ๆ ที่มีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ และในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก แต่ปรากฏโรงแรมระดับ 3 ดาวของไทยที่มีอยู่จำนวนมากในเมืองรอง ยังไม่ได้รับอานิสงส์ และยังแย่อยู่
“กว่าที่จะรอจนนักท่องเที่ยวเข้ามากระจายพักจนครบ โรงแรมต้องมีเงินหมุนเวียนเพื่อทำให้กิจการเดินต่อไปได้ และมีความสามารถในการจ้างงาน ไม่งั้นลูกน้องก็ออกไปอยู่โรงแรมใหญ่ ๆ หมด พอลูกค้ากลับมาก็ไม่สามารถไปต่อได้ เงินก็หมด จากเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน ตรงนี้รัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้ไข ในการสนับสนุนให้เข้าถึงสภาพคล่อง และหามาตรการดีๆ มาช่วยเอสเอ็มอีในทุกภาคส่วน”
อีกหนึ่งปัญหาเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลเร่งผลักดันคือ การปรับลดค่าไฟฟ้าลง หลังจากที่ล่าสุด (22 มี.ค.)คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย เป็นอัตราเดียวทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน เรื่องนี้ในนาม กกร.เห็นว่าค่าไฟรอบใหม่ควรปรับลดลงได้อีก เพราะเวลานี้ราคาก๊าซแอลเอ็นจีที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปรับตัวลดลงมาก จากก่อนหน้านี้เคยสูงสุด 60-70 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู แต่เดือน ม.ค.ปรับลดลงเหลือระดับ 20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และปัจจุบันเหลือระดับ 12-13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู
“ทาง กกพ.ใช้ฐานราคา LNG เดือนมกราคมที่อยู่ระดับ 20 ดอลลาร์มาใช้คำนวณค่าไฟงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม แต่ปัจจุบันลดลงเหลือ 10 กว่าดอลลาร์ต่อล้านบีทียู คำถามคือทำไมไม่เอาราคาเดือนใกล้ ๆ มาใช้ในการคำนวณ เพราะเวลานี้เป็นช่วงราคาก๊าซขาลง เพราะฉะนั้นค่าไฟฟ้าควรลงมาอยู่ที่ระดับ 4.40 บาทต่อหน่วย (ค่าไฟฟ้างวด ม.ค.-เม.ย.66 ภาคธุรกิจอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วย ภาคครัวเรือน 4.72 บาทต่อหน่วย) ล่าสุดเรื่องค่าไฟฟ้าให้ลดเหลือ 4.40 บาทต่อหน่วยนี้ ทาง กกร.ได้ยื่นเรื่องต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อให้มีคำสั่งไปทบทวนใหม่ ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร”
ขณะเดียวกันจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ของหลายประเทศ ส่งผลเงินเฟ้อของหลายประเทศทั่วโลกยังสูง ฉุดกำลังซื้อ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง กระทบต่อภาคการส่งออกของไทยแย่ลง (ล่าสุดตัวเลขติดลบ 5 เดือนต่อเนื่อง) ทำให้การส่งออกของโลกแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อหาที่ระบายสินค้า เฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจากจีนที่เป็นโรงงานของโลกได้ทะลักเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนซึ่งรวมถึงไทย และเข้ามาแย่งตลาดผู้ผลิตและขายสินค้าในประเทศ ซึ่งจากต้นทุนและราคาที่ถูกกว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยจะได้รับผลกระทบมาก
“มีสัญญาณออกมาแล้ว ในย่านการค้าหลัก ๆ ไม่ว่าจะเป็น เยาวราช ทรงวาด สุทธิสาร และอื่น ๆ มีการเปลี่ยนมือร้านค้าจากเจ้าของคนไทย ไปอยู่ในมือของต่างชาติ และนำสินค้าจากประเทศตัวเองเข้ามาขายแข่ง ซึ่งกำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และยังมีศูนย์ค้าปลีกค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่จากจีนมาลงทุนแถวบางนา-ตราด(ซามาเนีย พลาซ่า) เหล่านี้จะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และภาคการผลิต ภาคการค้าได้รับผลกระทบ และต้องการให้รัฐบาลที่จะมาใหม่เร่งแก้ไขปัญหา เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นภัยคุกคามอีกอันหนึ่ง ที่จะมาซํ้าเติมเอสเอ็มอีของเรา”
ส่วนเรื่องระยะกลางคือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจตาม BCG Model และการผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ๆ เพื่อเป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการนำเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3878 วันที่ 13 -15 เมษายน พ.ศ. 2566