ท่ามกลางบรรยากาศการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ประชันนโยบายด้านเศรษฐกิจเอาใจฐานเสียงผู้มีสิทธิเลือกตั้งในทุกกลุ่ม ตั้งแต่ระดับรากหญ้า ไปจนถึงผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นโยบายโดนใจ ย่อมได้คะแนนเสียง แต่ผลลัพธ์จากการดำเนินนโยบายเหล่านั้น จะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้จริงหรือไม่ ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้วิเคราะห์ 16 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของคนไทย เพื่อสะท้อนปัญหาที่เห็น และประเด็นที่ควรพิจารณา ทั้งที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการผลิต คุณภาพของชีวิตของประชาชน ประเด็นที่เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในบริบทโลกใหม่ (megatrends) และประสิทธิภาพและความสามารถของภาครัฐ
ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้วิเคราะห์มิติทางกฎหมายกับการพัฒนาเอาไว้ว่า ในปัจจุบันประชาชน และผู้ประกอบธุรกิจต้องเผชิญกับต้นทุนแฝงในการดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจ
ต้นทุนแฝง เหล่านั้นเกิดจากอุปสรรคในการติดต่อกับหน่วยงานรัฐ และการปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด เช่นความยุ่งยาก ซับซ้อนในการกรอดแบบฟอร์ม หรือเอกสารต่างๆ ความยากลำบากในการเตรียมข้อมูล และเอกสารเพื่อขออนุญาตใดกับหน่วยงานรัฐ แม้กระการที่หน่วยงานรัฐไม่มีกรอบเวลาในการดำเนินการเรื่องต่างๆที่ชัดเจน
สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเกิดจากกระบวนงาน เงื่อนไข หรือข้อกำหนด ในเชิงวิชาการเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “เศษตะกอนทางกฎหมาย” หรือ “regulatory sludge”
ปัญหาเหล่านี้ มักถูกมองข้าม แต่กลับเป็นสาเหตุที่ทำให้การผลักดันมาตรการ เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่างๆ ไม่มีผลลัพธ์ เพราะ ความลำบากยุ่งยากที่ประชาชนได้รับ และความล่าช้าของระบบราชการ
ตัวอย่าง เศษตะกอนทางกฎหมาย เกี่ยวกับความล่าช้าในการขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า แม้เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ของกรมว่า ขั้นตอนและระยะเวลาการบริการจดทะเบียนบริษัทจำกัด ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง 25 นาที หรือกรมบัญชีกลางได้เปิดเผยขั้นตอนและระยะเวลาที่ใช้ในการประกวดราคาแบบ e-bidding ให้ประชาชนได้รับทราบ
แต่หากรวมระยะเวลาในการเตรียมเอกสาร กรอกเอกสาร และแก้ไขเอกสารของผู้ยื่นขอจดทะเบียน ซึ่งอาจจะใช้เวลาและทรัพยากรในการเตรียมการมากกว่าที่หน่วยงานของรัฐประกาศไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งถือเป็น “เศษตะกอนทางกฎหมาย” เป็นต้นทุนแฝงของประชาชน เพราะต้องใช้เวลาไปขอเอกสารจากหลายหน่วยงาน และต้องกรอกในแบบฟอร์มที่มีความยุ่งยากซับซ้อน
หากต้องการผลักดันเศรษฐกิจ ให้มีประสิทธิผลจึงควรต้องกำจัด "เศษตะกอนทางกฎหมาย"เหล่านี้ โดยต้องพัฒนานโยบายทางการบริหารจัดการกฎหมายและกฎระเบียบ (regulatory stock management) พร้อมทั้งออกแบบกลไกการบริหารงานภาครัฐ โดยยึดความง่าย และสะดวกแก่ประชาชนผู้รับบริการ การสร้างขั้นตอนเท่าที่จำเป็นและง่ายต่อการเข้าใจ นอกจากนั้น ยังคำนึงถึงการเข้าถึงผู้รับบริการทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มด้อยโอกาส (inclusivity) ด้วย