เจาะลึกนโยบายเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน เพื่อไทย สู้ศึกเลือกตั้ง 2566

12 เม.ย. 2566 | 03:22 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2566 | 05:09 น.

ฐานเศรษฐกิจสัมภาษณ์พิเศษ “ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร” หนึ่งในทีมกุนซือคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย เปิดนโยบายด้านเศรษฐกิจแบบเจาะลึก ทั้งการค้าการลงทุน สู้ศึกเลือกตั้ง 2566

พรรคเพื่อไทย จัดทัพสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่ 2566 เต็มกำลังภายใต้เป้าหมาย “แลนด์สไลด์” ผ่านการขับเคลื่อนนโยบายหาเสียงที่ประกาศออกมาเป็นระลอก ๆ ซึ่งถูกกลั่นออกมาจากทีมขุนพลด้านเศรษฐกิจของพรรค นั่นคือ คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ โดยมี “หมอมิ้ง” น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นประธาน พร้อมทีมที่ปรึกษามือเศรษฐกิจ 4 คนเป็นกุนซือ 

คนแรก : พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นผู้มีประสบการณ์ด้านมองเศรษฐกิจมหภาค และการต่างประเทศ มีบทบาทด้านเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง และการต่างประเทศ 

คนที่สอง : เศรษฐา ทวีสิน เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จด้านอสังหาริมทรัพย์ มีบทบาทด้านการบริหารงาน และการสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน

คนที่สาม : ศุภวุฒิ สายเชื้อ เป็นนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ มีบทบาทด้านงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ

คนสุดท้าย : ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตข้าราชการ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และการเมือง มีบทบาทด้านการบริหารจัดการด้านราชการ การค้า การลงทุน และการต่างประเทศ

 

สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร” ที่ปรึกษาคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย

ฐานเศรษฐกิจ มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษหนึ่งในทีมกุนซือของพรรคเพื่อไทย นั่นคือ “ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร” โดยฉายภาพการจัดทำนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรค พร้อมทั้งแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อนำไปปฏิบัติได้จริง ภายใต้แคมเปญ คิดใหญ่ทำเป็น ที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้

ต้องแก้ภาพใหญ่ส่งออก-การค้า-การลงทุน

“ดร.ปานปรีย์” ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นรายได้หลัก แต่ปัจจุบันเกิดปัญหา และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการถดถอยลงได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมที่มีอยู่ ยังเป็นแบบเดิม แม้ตอนนี้จะพยายามพัฒนาแต่ก็ไม่ทันสมัยพอจนก้าวไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ได้ ดังนั้นจึงทำให้การส่งออกของไทยมีปัญหา

ขณะที่การเจรจาการค้ากับต่างประเทศ ในช่วงที่ผ่านมาทำได้ช้ามาก จนสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศเพื่อนบ้าน จนทำให้มีผลกระทบต่อการส่งออก เริ่มอยู่ในอาการนิ่งเฉย และไม่ได้แตกต่างจากการถดถอยลง ด้วยเหตุนี้จึงต้องรีบกลับมาแก้ไข พร้อมกับการดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น 

“นโยบายพรรคเพื่อไทยด้านการค้าการลงทุนมีความชัดเจนว่าต้องเปิดตลาดมากขึ้น เพราะในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง ประเทศที่ต้องการทำเศรษฐกิจของตัวเองให้ดีต้องคำนึงถึงภูมิรัฐศาสตร์ วางตัวให้สมดุลเพื่อให้ได้ประโยชน์จากการค้าและการลงทุนที่เปลี่ยนไป เพราะวันนี้การส่งออกเราถดถอยลงไป ขณะที่การเจรจาการค้าระหว่างประเทศก็ช้ามาก จนทำให้สูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ”

สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร” ที่ปรึกษาคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย

เร่งเจรจาการค้าปรับโครงสร้างสู่ดิจิทัล

ทั้งนี้หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล สิ่งแรกที่ต้องเร่งทำในด้านการค้าและการลงทุนคือ ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติด้วยการทำการเมืองของประเทศให้เป็นประชาธิปไตย เป็นประเทศที่สันติและน่าลงทุน เร่งเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) เพิ่มเติม ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่ดิจิทัลให้ได้ พร้อมทั้งเร่งปรับระบบราชการให้รองรับการลงทุนเพิ่มมากขึ้นและรวดเร็วกว่าปัจจุบัน

“เรื่องสำคัญคือต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้การเมืองต้องเป็นประชาธิปไตย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักการลงทุน พร้อมปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ดิจิทัล ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และระบบราชการ ทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น ส่วนภาคแรงงานนั้นก็ต้องสร้างขีดความสามารถขึ้นมาให้มีศักยภาพ”

ดันเทคโนโลยี-ดึงอุตสาหกรรมชิป

สำหรับการเจรจาการค้านั้น ปัจจุบันสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อหย่อนลดระยะเวลาได้ เช่น การประชุมหารือในระดับปฏิบัติการผ่านช่องทางออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องยกคณะเดินทางไปต่างประเทศ หากเดินทางไปเจรจาก็ทำเฉพาะวาระสำคัญเท่านั้น ซึ่งน่าจะช่วยลดเวลาการเจรจาจาก 2 ปีเหลือเพียง 1 ปีหรืออาจน้อยกว่านั้นได้ และจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก โดยรัฐบาลจะเป็นฝ่ายกำกับการทำงานของทางราชการให้เดินทางแผน

“ดร.ปานปรีย์” ระบุว่า นโยบายด้านการค้าและการลงทุนนั้น จะทำแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป ทั้งอุตสาหกรรม 4.0 หรือการส่งเสริมนวัตกรรมอาจจะช้าไปแล้ว เวลานี้อาจต้องเปลี่ยนรูปแบบใหม่ด้วยการดึงนักลงทุนในอุตสาหกรรมหลัก ๆ เข้ามาในประเทศเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มากที่สุด เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ต้องทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาคให้ได้ หรือการดึงอุตสาหกรรมชิป-เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

สร้างเขตธุรกิจใหม่ 4 ภาค

ขณะเดียวกันพรรคยังมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้วยการประกาศสร้างเขตธุรกิจใหม่ 4 ภาคโดยมีพื้นที่นำร่อง คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่ ที่มีมหาวิทยาลัย สนามบิน และโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในพื้นที่พร้อมเพื่อขับเคลื่อน Start-ups และ SME สู่การสร้างรายได้ใหม่ให้แก่ประชาชน

สำหรับแผนการดำเนินงาน ต้องมีกฎหมายธุรกิจชุดใหม่ เพื่อเป็นการปลดล็อกปัญหาการทำธุรกิจของ Start-ups และ SMEs ในทุกมิติรวมถึงดึงเงินนักลงทุนจากต่างชาติ เข้าแก้ไขปัญหาด้านใบอนุญาตต่างๆ ปัญหาแรงงาน การนำเข้าส่งออก และการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ 

พร้อมทั้งกำหนดสิทธิประโยชน์ใหม่ โดยให้สิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีนำเข้า จะไม่แพ้ที่ใดในโลก ส่วนสุดท้าย คือ การระบบนิเวศทางธุรกิจใหม่ โดยการสร้างสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ระบบการศึกษาและการผลิตคนทำงานใหม่ ระบบธนาคารใหม่ เพื่อผลักดันให้ภาคเอกชนขับเคลื่อนได้

ขณะที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งทำมาในรัฐบาลนี้ พรรคเพื่อไทยจะไม่ล้มโครงการ เพราะมีโครงการลงทุนหลายอย่างที่เดินหน้าไปแล้ว แม้ว่าจะยังไม่สมบูรณ์ โดยจุดยืนของพรรคหากเป็นรัฐบาลแล้ว จะไม่ขยายโครงการ EEC ออกไปอีก และพุ่งเป้าไปที่การทำเขตธุรกิจใหม่ในภาคอื่น ๆ ให้แข็งแรงขึ้นมาแทน