เว็บไซด์ thaidialogue เผยแพร่บทความของ "นวพร เรืองสกุล" อดีตเลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ภายใต้หัวข้อ "Digital Money ในการหาเสียงเลือกตั้ง 2566"
นวพร บอกว่า ในการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งทั่วไป เดือนเมษายน 2566 มีพรรคหนึ่งนำเสนอว่าจะแจกเงินดิจิทัลให้ราษฎร โดยมีผู้ส่งข้อเขียนหนึ่งมาให้ซึ่งผู้เขียนชี้แจงแสดงเหตุว่าถูกต้อง เหมาะสม ทันสมัย และอธิบายว่าเป็นนโยบายการเงิน (เอาดิจิทัลมันนีที่หาเสียงไปโยงว่าเป็นบาทดิจิทัล ที่ธนาคารชาติกำลังศึกษาอยู่)
อ่านแล้วกุมขมับว่าพูดอะไร (วะ)
ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ไม่ได้ เพราะว่ารู้ และจำเป็นต้องชี้ การเมืองเรื่องนี้ “ธุระมันใช่” ไม่เข้าใจ รู้ไม่ทัน หายนะจะมาเยือน
วิชานี้ขอเรียกว่า เศรษฐศาสตร์ 100.1
มี 3 หัวข้อ
ข้อ 1 เงิน เงินกระดาษ อีมันนี ดิจิทัลมันนี
เงินคืออะไร
คือสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ที่สังคมตกลงร่วมกันว่าจะใช้เงินนี้เป็นตัวกลางวัดค่าและแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าและบริการกัน เบี้ยกุดชุม เป็นเงินในหมู่บ้านกุดชุม เงินบาทเป็นเงินในประเทศไทย จะไปใช้เงินนี้ที่อื่น ต้องแลกเป็นเงินที่สังคมนั้นๆ ยอมรับ
เงินมีหลายหน้าที่ [วันนี้เว้นเรื่องนี้ไปก่อน]
สังคมทั่วไปในยุคที่ค้าขายกันมากๆ ใช้โลหะเงินหรือทองคำเป็นเงินตรา แต่สมัยที่เราเกิดมาก็รู้จักแต่เงินกระดาษ เท่านั้น
เงินกระดาษ ออกโดยธนาคารกลาง หรือรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง แล้วแต่แต่ละประเทศจะตกลงกันภายในประเทศนั้นเอง (หยิบธนบัตรออกมาดูเลย) การจะออกเงินมาได้มีกฎหมายกำหนดไว้ ไม่ใช่ว่านึกอยากจะใช้เงินก็พิมพ์เงินออกมาดื้อๆ ง่ายๆ
เพื่อความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอย เราไม่หอบเงินกระดาษไปเป็นฟ่อนๆ (เว้นแต่บางกรณี) แต่เอาไปฝากธนาคารพาณิชย์ไว้เป็นบัญชีเงินฝาก เมื่อต้องการใช้เงินก็ถอนเงินสด หรือใช้เช็คสั่งจ่าย สั่งโอนจ่าย สมัยนี้ใช้วิธีสั่งจ่ายทางอีเลิกทรอนิกส์ได้ด้วย
เงินอีเล็กทรอนิกส์มีหลายรูปแบบ ทดลองกันเรื่อยมาตั้งแต่เดบิตการ์ด และสุดท้ายไร้การ์ด เป็น App. ที่แทบทุกคนใช้ (และถูกมิจฉาชีพหลอกจนเงินเกลี้ยงกระเป๋าก็มี) รวมเงินในกระเป๋าสตางค์ที่รัฐใส่เงินหรือร่วมจ่ายให้เมื่อผู้มีสิทธินำไปใช้จ่าย เช่น โครงการเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง เป็นต้น สุดแท้แต่จะเรียกชื่อกันไปให้แตกต่าง แต่ทุกอันเหมือนกัน คือตั้งต้นที่มีเงินฝากในธนาคาร
เงินดิจิทัล เช่น บาทดิจิทัล หยวนดิจิทัล เงินนี้ไม่ต้องมีคนกลางรับฝาก เป็นเงินที่ล่องลอยอยู่เหมือนลม อยู่ได้เพราะไฟฟ้า มืคือมี ธนาคารกลางเป็นผู้ออก (ต่างจากเงินคริปโต หรือ crypto curency ต่างๆ ที่คนหรือนิติบุคคลพยายามออกมาใช้แทนเงิน โดยหาตัวสร้างความมั่นคงให้คนเชื่อมั่นต่างๆ กัน)
ตอนนี้หยวนดิจิทัลออกใช้แล้ว ส่วนบาทดิจิทัล ไทยเรากำลังศึกษากันอยู่
กติกาการออกเงินดิจิทัล เป็นแบบเดียวกับเงินกระดาษ ต่างกันที่ตัวเงิน แต่ไม่ต่างกันในวิธีการนำออกมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เงินกระดาษออกมาทางไหน เงินดิจิทัลออกมาทางนั้น เอาเงินกระดาษออกมาไม่ได้ เงินดิจิทัลก็ไม่ออกมาเช่นเดียวกัน
ดังนั้นกระเป๋าเงิน จะเป็นกระเป๋าหนังจรเข้ หนังควาย หรือ e wallet หรือ digital wallet ถ้าไม่มีเงินใส่เข้าไปก็เป็นแค่ “เป๋า” แห้งๆ
ข้อ 2 นโยบายการคลังกับนโยบายการเงิน
กระทรวงการคลังกับธนาคารชาติเป็นคู่แฝดในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ มีการแบ่งงานกันทำ ส่วนที่เหลื่อมกันก็คุยตกลงกันก่อน
นโยบายการคลัง คือเรื่อง หารายได้จากไหน จะใช้จ่ายอย่างไร เงินไม่พอทำไง เงินเหลือทำไง
ก. รายได้มาจากภาษี ถ้าคิดจะลดภาษี แปลว่ารายได้ของรัฐจะลด ขึ้นภาษี รายได้ของรัฐก็เพิ่ม (แต่ถ้ามากเกินไป ก็อาจได้ผลกระทบทางลบได้ เพราะคนหมดแรงทำงาน) และต้องคิดว่าจะเพิ่ม/ลดให้ใคร เพราะมีผลกระทบอีกหลายเรื่องตามมา (หมายถึงภาษีเงินได้นะ ภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ต้องคิด เก็บแค่นี้ก็ต่ำมากแล้ว)
ข.รายจ่ายอยู่ในกรอบของงบประมาณรายจ่าย นักการเมืองแย่งกันทำหน้าที่นี้กันจัง ขอเพิ่ม ขอย้ายงบเข้าท้องถิ่นตน ขอตัดงบที่ตัวไม่เกี่ยวหรือไม่ได้หน้า
นักการเมืองชอบลดภาษี และชอบเพิ่มงบประมาณรายจ่าย ทำให้เกิดการชักหน้าไม่ถึงหลังเป็นประจำบางประเทศจึงผูกงบประมาณสองด้านนี้ไว้ด้วยกัน จะเพิ่มรายจ่าย ต้องพิจารณาเรื่องเพิ่มภาษีไปพร้อมกันด้วย จะพิจารณาลดภาษี ต้องตัดงบค่าใช้จ่ายลงด้วย
ค. งบประมาณสองด้านมองพร้อมกันแล้ว จะขาดดุล หรือ สมดุล หรือเกินดุล ขาดดุลก็ต้องกู้มาอุด จะกู้จากไหนก็ต้องวางแผน เพราะกู้แต่ละแหล่งเงินทุน ผลกระทบไม่เท่ากัน
ถ้าเกินดุลก็ใช้หนี้ให้หนี้ลดลง แบบนี้ภาระดอกเบี้ยในปีต่อไปก็ลดลงด้วย ทำให้มีรายได้เหลือสำหรับใช้จ่ายได้มากขึ้น บางครั้งก็เริ่มคิดเรื่องโครงการใหญ่ๆ ที่ใช้เงินมาก แต่ได้ผลประโยชน์ระยะยาวดีๆ ก็ว่ากันไป
นโยบายการเงิน คือเรื่องปริมาณเงินที่ออกสู่ระบบเศรษฐกิจ เรื่องอัตราดอกเบี้ย และเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน
ถ้าปริมาณเงินมากเกินพอดี จะเห็นเงินไหลออกจากประเทศ ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง และทำให้มีการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ และรักษาค่าเงินบาท ถ้าจะฝืนไว้ก็ต้องควักเงินสำรองที่เป็นเงินตราต่างประเทศออกมาช่วย ทำให้เงินสำรองร่อยหรอ
นโยบายการเงินกับการคลังข้องเกี่ยวกันหลายระดับ ขอยกตัวอย่างเรื่องเดียวคือ ถ้างบประมาณขาดดุล รัฐบาลต้องกู้เงิน ถ้าเงินในระบบของเอกชนทุกแบบมีไม่พอ ก็ต้องกู้ธนาคารชาติ ซึ่งจะทำให้ปริมาณเงินเพิ่ม มีแนวทางป้องกันชั้นต้นไม่ให้ใช้มากเกิน โดยการกำหนดเพดานเงินกู้ภาครัฐเอาไว้เป็น % ของจีดีพี และหาวิธีการหลากหลายที่จะทำให้ประชาชนออมเงิน จะได้มีเงินออมมาให้รัฐบาลกู้ ไม่ต้องหันมาใช้เงินธนาคารชาติ
ข้อ 3 หลักที่ต้องจำให้แม่น ยึดให้มั่น
เมื่อเจอลูกเล่น และการพลิกแพลงต่างๆ ด้วยชื่อโน้นชื่อนี้เพื่อให้ถูกใจผู้ฟัง หรือเพื่อผลทางการตลาด ก่อนจะเคลิบเคลิ้มตามไป ให้กลับไปหาหลักจาก ข้อ 1 กับ ข้อ 2 ข้างต้น เพื่อดูว่าเงินจะออกมาอย่างไร
ใครจะชี้แจงว่าไม่เป็นไร ไม่ใช่ ก็ต้องถามให้จะแจ้งว่า ไม่ใช่แบบนี้แล้วเป็นแบบไหน
นโยบายเสกเงินง่ายๆ ใส่กระเป๋าคน เป็นการเพิ่มปริมาณเงิน คนที่ได้มามักใช้หมด และเป็นเพียงการรวยชั่วคราวซึ่งเป็นมายา เพราะไม่กี่วันราคาของก็เพิ่มตาม เรียกว่าเงินเฟ้อ
เงินมากๆ ที่ออกมาเพ่นพ่าน ถ้าเป็นกระดาษก็กลายเป็นแบงก์กงเต้ก ยิ่งทำมากเท่าไหร่ หายนะจะมาเยือนเร็วมาก แค่ขึ้นเงินเดือน ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบที่แล้ว ของก็ขึ้นราคาทันที ราคาของเหมือนจอกแหน มันลอยขึ้นตามน้ำเสมอ
การเอาแต่เสกเงินออกมา โดยไม่พัฒนาฝีมือคนทำงาน ไม่ลงทุนในการเพิ่มผลผลิต และปัจจัยพื้นฐานให้เดินหน้าไปในทิศที่มุ่งหวัง พังไปแล้วหลายประเทศ เช่น เวเนซูเอล่า กับอาร์เจนติน่า (ทั้งๆ ที่เป็นประเทศมีน้ำมัน)
ตอนนี้การเมืองกำลังหาเสียงลดแลกแจกแถมกันจนหูอื้อ นอกจากระวังพวกเขียนเป็นตุเป็นตะแล้ว ยังต้องระว้งพวกที่รู้ แต่เจตนาพูดความจริงเพียงครึ่งความ ที่เหลือบิดให้เบี้ยวไปตามใจตน (half truth) อาจจะระแวงไว้ก่อนว่า ใครกำลังสับขาหลอกหรือเปล่า