กางต้นทุน-ผลผลิต สินค้าเกษตรไทย “ข้าว-ปาล์ม-ยาง”รั้งท้ายเพื่อนบ้าน

20 เม.ย. 2566 | 05:22 น.
อัปเดตล่าสุด :20 เม.ย. 2566 | 06:06 น.

เกษตรไทยรั้งท้ายเพื่อนบ้าน ต้นทุนการผลิต “ข้าว”สูงกว่าเวียดนาม 2 เท่าตัว “ปาล์ม” สูงกว่ามาเลเซีย 60 สตางค์ต่อ กก. “ยางพารา” สูงกว่ามาเลเซีย 1 เท่าตัว ชี้ปัญหาหลักติดกับดักประชานิยมพรรคการเมือง ใช้นโยบายแทรกแซงตลาด ไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาระยะยาว จี้เร่งเพิ่มศักยภาพการผลิต

หนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่แข่งกันอย่างเอาเป็นเอาตายในเวลานี้ คือนโยบายด้านการเกษตรเพื่อหวังคะแนนเสียงประชาชนคนฐานราก ซึ่งภาคเกษตรไทยใน 4 ปีข้างหน้าจะเป็นไปในทิศทางใดนั้น ขึ้นกับนโยบายของพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงกันอยู่ในขณะนี้

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ศักยภาพการแข่งขันภาคเกษตรไทยลดลงเรื่อย ๆ เฉพาะต้นทุนการผลิตอย่างเดียวก็แพ้แล้ว โดยในส่วนสินค้าเกษตรสำคัญของไทย เช่น “ข้าว” เวลานี้ต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าเวียดนาม 2 เท่าตัว

  • ต้นทุนข้าวสูงกว่าเวียดนามอื้อ

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานปี 2562 ต้นทุนการผลิตข้าวนาปีของไทย อยู่ที่ 7,701 บาทต่อตัน เทียบกับต้นทุนของเวียดนามอยู่ที่ 4,972 บาทต่อตัน หรือ 4,972 บาทต่อไร่ (ผลผลิตข้าวเวียดนามเฉลี่ย 1 ตันหรือ 1,000 กก.ต่อไร่ ไทยเฉลี่ย 445 กก.ต่อไร่) ดังนั้นต้นทุนการผลิตข้าวโดยเปรียบเทียบเวียดนามต่ำกว่าไทย 2 เท่าตัว จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมราคาส่งออกข้าวไทยในตลาดโลกจึงสูงกว่าเวียดนาม และข้าวเวียดนามจึงแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในหลายตลาด

รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช

ทั้งนี้มี 6 เหตุผลที่ต้นทุนข้าวเวียดนามต่ำคือ 1.นโยบาย “3R3G” หรือ “Three Reductions Three Gains” หรือ “3 ลด 3 เพิ่ม” ลด คือ ลดใช้ปุ๋ยเคมี ลดยาฆ่าแมลง และลดปริมาณเมล็ดพันธุ์ให้เหมาะสม และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพิ่มคุณภาพ และเพิ่มกำไร 2.ชาวนาเวียดนามลงมือทำเอง ทำให้ช่วยลดต้นทุนและผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น

3.ที่นาของเวียดนามไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปทำอย่างอื่น ตามนโยบายของรัฐบาลเวียดนามและตามภูมิปัญญาตลอดจนค่านิยมที่ไม่ขายที่นาเพื่อเปลี่ยนเป็นสนามกอล์ฟ โดยการมีสุสานของบรรพบุรุษอยู่ในที่นา 4.ดินดำ น้ำชุ่ม มากกว่าร้อยละ 50 ที่ผลผลิตข้าวเวียดนามมาจากบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง 5.มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย โดยเฉพาะข้าวพันธุ์ไฮบริดที่ให้ผลผลิตมากกว่า 1 ตันขึ้นไป และ 6.มีการพัฒนาข้าวเพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เช่น การผลิตข้าวนุ่มขายให้จีน

กางต้นทุน-ผลผลิต สินค้าเกษตรไทย “ข้าว-ปาล์ม-ยาง”รั้งท้ายเพื่อนบ้าน

  • ปาล์มมาเลย์ต่ำกว่าเท่าตัว

 ด้าน “ปาล์มน้ำมัน” ต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมันของไทยอยู่ที่ 3 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ส่วนมาเลเซียอยู่ที่ 2.40 บาทต่อ กก. ไทยต้นทุนสูงกว่ามาเลเซีย 60 สตางค์ต่อ กก. เหตุผลเพราะ 1.โครงสร้างสวนปาล์มของมาเลเซียต่างจากไทย โดยสวนปาล์มมาเลเซียมาจาก 3 ส่วน คือ จากรายใหญ่ 70% ในจำนวนนี้ 20% เป็นสวนปาล์มในการดูแลของหน่วยงานราชการ ที่เหลือเป็นสวนปาล์มรายย่อย ขณะสวนปาล์มไทย 80% เป็นสวนปาล์มรายย่อย การที่มาเลเซียมีสวนปาล์มขนาดใหญ่ทำให้การบริหารจัดการด้านต้นทุนได้ดีกว่า

 2.การจัดเก็บผลปาล์มของมาเลเซียเน้นเก็บผลปาล์มสดสุกทำให้ได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันและราคาสูง  3.รัฐบาลมาเลเซียส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอย่างจริงจัง ทั้งการขยายผลผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมีคัลหลากหลายผลิตภัณฑ์ ทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของมาเลเซียเข้มแข็งและผลิตครบวงจร

  • ผลผลิตต่อไร่ก็สู้ไม่ได้

ส่วน “ยางพารา” ต้นทุนการผลิตโดยเฉลี่ยของไทยสูงกว่ามาเลเซียและเวียดนาม เช่น ยางก้อนถ้วยไทยอยู่ที่ 44.2 บาทต่อ กก. มาเลเซีย 27.1 บาทต่อ กก.และเวียดนาม 29 บาทต่อ กก. แต่ไทยมีต้นทุนต่ำกว่าอินเดียและกัมพูชา เหตุผลที่ต้นทุนยางพาราไทยยังสูงคือ 1.คิดตามต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ (ต้นทุนทุกอย่างที่เกิดขึ้นในการผลิต ไม่ว่าจะจ่ายออกไปจริงหรือไม่ก็ตาม) ในขณะที่มาเลเซียคิดตามต้นทุนทางบัญชี (ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่กิจการได้จ่ายออกไป และบันทึกรายการไว้ในบัญชีของกิจการ) 2.พื้นที่ปลูกยางพาราไทยหลายพื้นที่ไม่เหมาะสม เป็นผลจากนโยบายการขยายพื้นที่ปลูกยางในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา และ 3.ราคาน้ำมันและไฟฟ้ามาเลเซียถูกกว่าไทย

“นอกจากต้นทุนแล้ว ผลผลิตต่อไร่สินค้าเกษตรสำคัญของไทยยังต่ำกว่าคู่แข่ง โดยยางพาราไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 221 กก.ต่อไร่ เวียดนาม อยู่ที่ 260 กก.ต่อไร่ และมาเลเซียอยู่ที่ 248 กก. ต่อไร่ ขณะที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันไทยเฉลี่ยที่ 2.9 ตันต่อไร่ มาเลเซีย 3.2 ตันต่อไร่ และอินโดนีเซีย 2.8-6.6 ตันต่อไร่ ส่วนผลผลิตข้าวไทยยังยืนไม่เปลี่ยนเฉลี่ยที่ 445 กก.ต่อไร่ ส่วนเวียดนามไปมากกว่า 1 ตัน หรือ 1,000 กก.ต่อไร่แล้ว”

รศ.ดร.อัทธ์ กล่าวอีกว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ หลายพรรคการเมืองหาเสียงภาคเกษตรกรรม แต่ยังเป็นไปในรูปแบบเดิม ๆ คือ แทรกแซงตลาด และนำเงินไปรับซื้อสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นอันตรายและไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาระยะยาว ทั้งนี้ควรนำเงินที่จะไปแทรกแซงตลาด มาใช้ในการเพิ่มศักยภาพการผลิตจะดีกว่า ใครปรับตัว มีการให้รางวัล ใครไม่ปรับตัว ไม่มีรางวัล และต้องแพ้ภัยตัวเองไปในที่สุด

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3880 วันที่ 20 -22 เมษายน พ.ศ. 2566