บิ๊ก SCG ผ่า 3 ความเสี่ยง "เศรษฐกิจไทย" แม้ท่องเที่ยวฟื้น

28 เม.ย. 2566 | 04:47 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2566 | 05:53 น.

เอสซีจี ผ่า 3ความเสี่ยง "เศรษฐกิจไทย" ชี้ ราคาพลังงาน - ภัยแล้ง - ฝุ่น PM 2.5 กระทบขีดความสามารถการแข่งขัน ขณะ ไตรมาส 1 ปีนี้ เผยมี รายได้ 128,748 ล้านบาท ฟื้นตัวจากท่องเที่ยว ชูธงธุรกิจพลังงานสะอาดและปิโตรเคมี ขยายตัวดี

28 เมษายน 2566 - นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เผยว่า ผลประกอบการเอสซีจี ไตรมาส 1 ปี 2566 มีรายได้ 128,748 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน กำไร 16,526 ล้านบาท ซึ่งรวมกำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนใน SCG Logistics จากการรวมธุรกิจ SCGJWD Logistics ของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำนวน 11,956 ล้านบาท 

ท่องเที่ยวคึกคัก ดึงความต้องการ วัสดุก่อสร้าง

ทั้งนี้ กำไรที่ไม่รวมรายการพิเศษอยู่ที่ 4,516 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,446 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน จากยอดขายที่ปรับเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ ส่วนต่างราคาขายสินค้าเคมีภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น การฟื้นตัวของตลาดก่อสร้าง การท่องเที่ยวที่คึกคัก ส่งผลให้ความต้องการซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง และบรรจุภัณฑ์ในไทยเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ราคาถ่านหินปรับตัวลง และธุรกิจลดต้นทุนได้ดีจากการใช้เชื้อเพลิงทดแทนและพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น 

ส่วนธุรกิจเคมิคอลส์  มีความพร้อมและสามารถปรับตัวตามสภาวะตลาดได้ดี โดยโรงงานระยองโอเลฟินส์ (ROC) ได้เร่งกลับมาดำเนินการผลิตตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เนื่องจากความต้องการเคมีภัณฑ์ที่สูงขึ้นในภูมิภาคจากการเปิดประเทศของจีน ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น ล่าสุด ปิโตรเคมีครบวงจร LSP (Long Son Petrochemicals - ลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์) เริ่มทดลองเดินโรงงาน ผลิตเม็ดพลาสติกป้อนตลาดเวียดนาม ส่วน SCG Cleanergy เติบโตต่อเนื่อง ด้วยบริการซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดครบวงจร สำหรับภาครัฐ ธุรกิจและอุตสาหกรรม และ SCG Decor ผสาน COTTO ขยายการเติบโตสู่ผู้นำอาเซียน ในธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ครบวงจร ด้วยนวัตกรรม ดีไซน์ และรักษ์โลก

สำหรับตลาดอาเซียน การฟื้นตัวยังไม่เห็นเด่นชัด อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ในบางประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะอเมริกาและยุโรป มีความเสี่ยงเข้าสู่การชะลอตัว จากวิกฤติเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง และการผันผวนของราคาพลังงาน

ผ่า 3 ปัจจัยเสี่ยง เศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังต้องเฝ้าระวัง 3 ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ 

  • ความผันผวนของราคาพลังงาน เช่น ค่าไฟ และพลังงานอื่น ๆ  ซึ่งจะลดทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม เสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ดันค่าครองชีพสูงขึ้นทันที กำลังซื้อหดตัวลง กระทบต่อต้นทุนของภาคการผลิต 
  • ความเสี่ยงภัยแล้ง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) คาดการณ์ปี 2566-2567 อาจมีฝนน้อยกว่าปกติ และฝนทิ้งช่วงมากขึ้น ทั้งเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ จึงเสี่ยงเกิดภัยแล้งรุนแรงข้ามปี ส่งผลกระทบทั้งภาคประชาชน การผลิต อุตสาหกรรม เกษตร และท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทย 
  • สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่สูงเกินมาตรฐาน ปกคลุมหลายเมืองเศรษฐกิจและท่องเที่ยวเป็นเวลายาวนาน ส่งผลกระทบสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ การเตรียมการรับมือกับปัจจัยเหล่านี้ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนควรร่วมกันหาทางออก เพื่อลดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต คงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง

“การเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยถือเป็นสัญญาณดีของปี 2566 หากทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ปัญหา ที่ส่งผลต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ จากต้นทุนพลังงานและไฟฟ้าพุ่งสูง ความเสี่ยงภัยแล้ง และปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะช่วยให้ประเทศไทยเราเดินหน้าต่อไปได้ คงความสามารถในการแข่งขัน และรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง”


อย่างไรก็ตาม เอสซีจี เร่งปรับตัวและร่วมแก้ปัญหาจากปัจจัยเสี่ยงอย่างเต็มที่ โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทดแทนและพลังงานแสงอาทิตย์ กำหนดมาตรการใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า เตรียมแหล่งน้ำในพื้นที่ของบริษัทเพื่อสำรองน้ำ และช่วยเหลือชุมชน มุ่งบรรเทาปัญหาฝุ่นด้วยมาตรการเข้มงวด โดยติดตั้งระบบดักฝุ่น การทำเหมืองแบบ Semi Open Cut โดยมีขอบเขา (Buffer Zone) เป็นกำแพงกันฝุ่น ฉีดพรมน้ำตามเส้นทางขนส่ง และคลุมผ้าใบรถทุกคัน ปลูกต้นไม้รอบพื้นที่เป็นแนวกันฝุ่น (Green Belt) และร่วมกับคู่ธุรกิจ ลดฝุ่นจากงานก่อสร้าง ด้วยการใช้ BIM ในการออกแบบ และหล่อชิ้นงานสำเร็จรูปหรือทำเป็นโมดูลาร์ประกอบที่หน้างาน (Off-Site Construction)

ตลอดจนมุ่งเน้นพิจารณาลงทุนอย่างรอบคอบ ปรับใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และออโตเมชั่น เช่น COTTO นำเทคโนโลยีการประมวลภาพ (Image Processing) วิเคราะห์คุณภาพสุขภัณฑ์ เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบสินค้ารวดเร็วมากขึ้น จาก 1 วัน เป็น 1 ชั่วโมง