หลังจากสถานการณ์ทั่วโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป หลายประเทศเริ่มส่งสัญญานบวกด้านเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับตูนีเซียที่เศรษฐกิจของตูนิเซียมีสัญญาณการฟื้นตัวในปี 2566 โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจคาดว่าจะสูงถึง 4.2% เพิ่มขึ้นจาก 3% ในปี 2565 ตามรายงานล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตูนีเซียได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว
การส่งออกภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น และการดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยมุ่งปรับปรุงบรรยากาศทางธุรกิจและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่า ด้วยนโยบายและการปฏิรูปที่เหมาะสม เศรษฐกิจตูนิเซียจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และมีศักยภาพที่จะกลายเป็นเศรษฐกิจที่มีความมั่นคงมากขึ้นต่อไป
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจตูนิเซียยังคงเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ เช่น อัตราการว่างงานในระดับสูง ภาวะเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 30 ปี ไม่ว่าจะเป็นการขาดดุลทางการค้ากว่า 50% และหนี้สาธารณะ รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่หลายประเทศมองว่าตูนีเซียมิได้เดินไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ดังนั้นในภาพรวม เศรษฐกิจของตูนิเซียมีสัญญาณของการฟื้นตัวและการเติบโต และมีความพยายามอย่างแข็งขันที่จะขยายความร่วมมือทางการค้ากับต่างประเทศ โดยผู้ประกอบการไทยอาจได้รับประโยชน์จากการพัฒนาความร่วมมือกับผู้ประกอบการตูนิเซียในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและมีความสนใจร่วมกัน
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมกาค้าระหว่างประเทศมองเห็นถึงโอกาสทางการค้าของผู้ประกอบการไทยมีหลายด้าน เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ตูนีเซียเป็นที่รู้จักในด้านคุณภาพ แรงงานที่มีทักษะของประเทศ และต้นทุนการผลิตที่แข่งขันได้ ผู้ประกอบการไทยอาจร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตสิ่งทอตูนิเซียเพื่อผลิตเสื้อผ้าคุณภาพสูงส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ โดยสิ่งทอของตูนิเซีย อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ตูนิเซียเป็นผู้ผลิตมะกอกและน้ำมันมะกอกรายใหญ่ และผู้ประกอบการอาหารไทยอาจพิจารณานำเข้าน้ำมันมะกอกตูนิเซียเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับน้ำมันปรุงอาหารเพื่อสุขภาพในประเทศไทย ไวน์ตูนิเซียกำลังได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ และผู้นำเข้าไทยอาจพิจารณาเพิ่มไวน์ตูนิเซียในการเปิดตลาดสินค้าใหม่ ๆ
นอกจากนี้ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของตูนีเซียกำลังเติบโต โดยมีบริษัทสตาร์ทอัพและบริษัทไอทีเกิดขึ้นมากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยสามารถสำรวจโอกาสในการร่วมมือกับผู้ประกอบการตูนิเซีย ในด้านอีคอมเมิร์ซ ฟินเทค และการพัฒนาซอฟต์แวร์ รวมถึงด้านอื่น ๆ ที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญ เช่น พลังงานหมุนเวียน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญของตูนิเซียอีกอย่างหน่ึง คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง เช่น การคอรัปชั่น กฎระเบียบการดำเนินการทางค้าที่ยุ่งยากซับซ้อน และความไม่มั่นคงทางการเมือง ซึ่งจะต้องขึ้นกับความสามารถของรัฐบาลตูนีเซียว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน หรือไม่ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตูนีเซียในระยะยาว โดยเฉพาะด้านการเมือง ซึ่งหากรัฐบาล ตูนีเซียชุดปัจจุบันเลือกที่จะถอยห่างจากประชาธิปไตย ตูนีเซียอาจตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะกลายเป็น รัฐล้มเหลวได้ในท้ายที่สุด