นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับข้อมูลสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี ถึงสถานการณ์สินค้าขนมและของหวานในตลาดเยอรมนี ปี 2022 แนวโน้มตลาดปี 2023 และโอกาสในการสินค้าขนมและของหวานของไทยเข้าสู่ตลาดเยอรมนี
ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานข้อมูลการบริโภคขนมของชาวเยอรมัน ในปี 2022 ที่ได้จากการผลิตในประเทศและนำเข้า มีจำนวน 2.7 ล้านตัน ลดลง 1.8% มียอดขาย 9,000 ล้านยูโร เพิ่มขึ้น 0.2% คิดเป็นสัดส่วน 7.8% ของยอดขายสินค้าอาหารในเยอรมนี มีการผลิตรวม 4 ล้านตัน เพิ่ม 2.8% มูลค่า 14,000 ล้านยูโร เพิ่ม 6.5%
โดยขนมและของหวานที่มียอดการผลิตสูงสุด ได้แก่ ช็อกโกแลต ขนมอบ ลูกอมและลูกกวาด ขนมขบเคี้ยว และส่งออก 2.5 ล้านตัน เพิ่ม 4% มูลค่า 10,300 ล้านยูโร เพิ่ม 11.5% โดยตลาดหลัก คือ สหภาพยุโรป 70% ที่เหลือส่งออกไปสหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา อิสราเอล และตุรกี เป็นต้น
สำหรับพฤติกรรมผู้บริโภค พบว่า ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยมีการบริโภคของหวานลดลง แต่ผู้บริโภคก็ยังเห็นว่าขนมและของหวาน เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในช่วงเทศกาลวันสำคัญต่าง ๆ และยังให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม นิยมสินค้าเพื่อความยั่งยืน ทำให้ผู้ผลิตมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ใช้วัตถุดิบ และปรับกระบวนการผลิตให้ได้รับการรับรองมาตรฐานแบบยั่งยืน เช่น น้ำมันปาล์มและโกโก้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตช็อกโกแลต และขนมหวาน ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว 79% และ 94% ตามลำดับ รวมทั้งมีการคิดค้นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจัยที่ส่งผลหลักต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค คือ รสชาติของสินค้า 88% ราคา 62% ยี่ห้อสินค้า 34% คุณค่าทางโภชนาการ 18% ความยั่งยืน 12%
จากพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวเยอรมันที่เน้นการดูแลสุขภาพและรักษาสิ่งแวดล้อม สินค้าที่ผู้ประกอบการจะนำมาขายในเยอรมนี ควรเน้นส่วนผสมที่มีความเป็นธรรมชาติ เช่น กลิ่น สี และรสชาติ รวมถึงให้พลังงานต่ำหรือปราศจากน้ำตาล ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่รักสุขภาพและต้องการควบคุมน้ำหนัก หรือปริมาณน้ำตาลในเลือด รวมทั้งผลิตภัณฑ์ขนมที่คำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคที่มีเงื่อนไขในการรับประทานอื่น ๆ ด้วย เช่น กลุ่มผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติ วีแกน กลุ่มผู้แพ้แลคโตส ผู้ป่วย โรคเบาหวาน สตรีมีครรภ์ กลุ่มเด็กเล็ก เป็นต้น ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับส่วนประกอบที่ใช้ในกระบวนการผลิตที่นอกจากจะเสริมในด้านสีสันให้ชวนรับประทานแล้ว รสชาติก็ควรให้เป็นที่เข้ากันกับผลิตภัณฑ์เดิมเพื่อให้เกิดความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
ส่วนการผลักดันการส่งออกของสินค้าไทยต่อไปในอนาคต ควรเป็นสินค้าที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ มีการนำผัก และผลไม้นานาชนิดของไทย ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพ เช่น มะพร้าว สัปปะรด มะม่วง เป็นต้น มาประยุกต์เป็นส่วนผสม และจุดขาย อีกทั้งควรใช้ขั้นตอนกรรมวิธีในการผลิตที่ใส่ใจต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างจุดแข็ง และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี โดยผู้ประกอบการควรศึกษาแนวโน้มตลาดเพื่อคิดค้น ต่อยอด ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาดในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น บรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ สินค้าวีแกน หรือสินค้าออร์แกนิก
นอกจากนี้ ควรระบุส่วนผสมบนฉลากสินค้าให้ชัดเจนเพื่อสร้างความแตกต่าง และเน้นที่จุดแข็งของผลิตภัณฑ์ และเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ดูทันสมัยเข้ากับสินค้าประเภทนั้น น้ำหนักเบา ไม่แตกหักง่ายระหว่างการขนส่ง วิธีในการเก็บรักษาให้ยาวนาน การควบคุมรสชาติ และคุณภาพให้คงที่ ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีมาตรฐานในกระบวนการผลิต และการขอใบรับรองจากหน่วยงานที่เป็นสากล อาทิ Organic, Vegan, Fair Trade เป็นต้น เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันให้กับสินค้าไทยในตลาดเยอรมนีและยุโรป รวมถึงตลาดโลกได้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อขยายตลาด และเพิ่มโอกาสในการพบผู้นำเข้า จากประเทศเยอรมนี รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ในแถบทวีปยุโรป โดยงานแสดงสินค้าที่น่าสนใจ ได้แก่ งานแสดงสินค้า ISM (International Süßwarenmesse) เป็นงานแสดงสินค้าประเภทขนมหวาน และของว่างที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ เมืองโคโลญ และงานแสดงสินค้า ANUGA งานแสดงสินค้าอาหารที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก จัดขึ้นเป็นประจำ ทุก 2 ปี ณ เมืองโคโลญ