"บิ๊กตู่" ตีกันพรรคการเมือง หยุดเหวี่ยงแห งบประมาณมีจำกัด

11 เม.ย. 2566 | 10:32 น.
อัปเดตล่าสุด :11 เม.ย. 2566 | 10:42 น.

นายกฯ เรียก 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ทั้ง สภาพัฒน์ สศค. สำนักงบประมาณ และธปท. อัพเดทสถานการณ์เศรษฐกิจ พร้อมตีกันพรรคการเมือง อย่าทำนโยบายเหวี่ยงแห งบมีจำกัด นโยบายที่พุ่งเป้าไปยังประชาชน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียก 4 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจเข้ามารายงานสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย

  • สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) 
  • สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
  • สำนักงบประมาณ
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ทั้งนี้นายกฯ ได้ขอให้หน่วยงานทั้งหมดรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย เสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศ พร้อมให้ครม. ร่วมซักถามถึงนโยบายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในการหาเสียงเลือกตั้ง ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศ และงบประมาณประเทศอย่างไร แยกเป็นหน่วยงานต่าง ๆ  ดังนี้

 

นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนสงกรานต์ 2566

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) 

สศช. รายงานภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2566 – 2567 มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้ต้องเฝ้าระวังผลกระทบกับการส่งออกของไทยในปีนี้ เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ส่วนอัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในอัตราที่ต่ำ โดยอยู่ในอันดับ 20 ของโลก และอันดับที่ 2 ของอาเซียน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ธปท. รายงานว่า เงินเฟ้อของไทยในปัจจุบัน อยู่ที่ 2.8% ซึ่งอยู่ในกรอบที่ธปท.กำหนด 1-3% และหวังว่าจะมีแนวโน้มลดลงต่อไป ขณะที่เสถียรภาพทางการเงินการคลัง ล่าสุดหนี้ต่างประเทศ ยังอยู่ในอัตราที่ไม่สูงเกินไป เช่นเดียวกับเงินคงคลังยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม ส่วนสถาบันการเงินของไทยมีความเข้มแข็ง ดังนั้นจึงไม่ได้มีความเสียงใด ๆ ในด้านการเงินการคลังของประเทศ

อย่างไรก็ตามนโยบายรัฐบาลที่ผ่านมา ก็ได้ดำเนินได้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ โดยเฉพาะการออกพ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับ วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาดูแลผลกระทบจากโควิด-19 และการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถือเป็นนโยบายที่เหมาะสมในช่วงที่ผ่านมา และการขับเคลื่อนการทำงานจากนี้ไปนั้น ความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจต้องลดลง และหันมาทำนโยบายที่พุ่งเป้ามากขึ้น โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มเปราะบาง

ธปท. ยังเรื่องภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ของรัฐบาลของประเทศไทยอยู่ที่ 8.5% คาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2566 อาจขยับขึ้นเล็กน้อยที่ 8.75% ซึ่งยังไม่เกินมาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ไม่เกิน 10% เพราะถ้าเกินไปนั้น จะกระทบต่อการจัดอันดับเครดิตของประเทศ

 

นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนสงกรานต์ 2566

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

สศค. รายงานผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลสุทธิ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ได้สูงกว่าประมาณการ จำนวน 990,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 90,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.8% โดยมาจากการจัดเก็บขรายได้ ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวได้ดี

เช่นเดียวกับกับการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพาสามิต ที่ผ่านมาจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ หลังจากรัฐบาลมีนโยบายลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาท เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนจากราคาขายปลีกน้ำมันโลกยังทรงตัวในระดับสูง ทำให้สูญเสียรายได้เดือนละ 10,000 ล้านบาท อาจส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ประมาณ 100,000 ล้านบาท แต่ก็สามารถช่วยลดภาระของประชาชนได้มาก

สำนักงบประมาณ

สำนักงบประมาณ ได้รายงานข้อมูล กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งตั้งกรอบวงเงินไว้ 3.35 ล้านล้านบาท โดยในรายละเอียดของงบประมาณปี 2567 ถ้าหักนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการต่าง ๆ ตั้งแต่แรกเกิด ผู้สูงอายุ จะคงเหลืองบที่เป็นรายจ่ายของราชการอยู่ที่ 220,000 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม หากนำงบประมาณมาทำตามนโยบายของพรรคการเมืองที่หาเสียงไว้ในตอนนี้นั้น อาจต้องปรับรายละเอียดใหม่อีกครั้ง ซึ่งสำนักงบประมาณ แจ้งว่า อาจเป็นไปได้ยาก เพราะงบประมาณที่มีอยู่หากจะปรับไปใช้ในโครงการใหม่อาจทำได้ลำบาก และต้องดูตัวเลขอย่างรอบคอบ

 

นายกรัฐมนตรี ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนสงกรานต์ 2566

 

สรุปผลการหารือในครม.

นายกฯ สรุปรายละเอียดว่า สุดท้ายแล้วนโยบายทางการเงินการคลังยังมีเสถียรภาพ โดยที่ประชุมสอบถามการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการดำเนินนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน มีเสถียรภาพเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่นั้น หน่วยงานทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันว่า การดำเนินนโยบายปัจจุบันเป็นสิ่งที่ถูกต้องกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว

ส่วนในอนาคตการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ต้องเป็นนโยบายที่พุ่งเป้าไปยังประชาชนกลุ่มต่าง ๆ โดยไม่ใช่การเหวี่ยงแห ไปทุก ๆ กลุ่ม ทุก ๆ คน เพราะมีข้อจำกัดของงบประมาณ และจะกระทบวินัยทางการเงินการคลังของประเทศด้วย