สำนักงบฯ พร้อมถกรัฐบาลใหม่หาข้อสรุป “งบประมาณฐานศูนย์”

24 พ.ค. 2566 | 00:09 น.

สำนักงบประมาณ พร้อมรายงานรัฐบาลใหม่ ถึงแนวทางการจัดทำนโยบายด้านงบประมาณ พร้อมหาข้อสรุปแนวนโยบาย “งบประมาณฐานศูนย์” ยอมรับตอนนี้ก็มีบางส่วนที่ทำคล้าย ๆ กัน เช่น งบลงทุน รับจากนี้คงต้องชี้แจงหาเพื่อข้อสรุป

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า สำนักงบประมาณ เตรียมหารือกับรัฐบาลใหม่ ถึงแนวทางการพิจารณาจัดทำ "งบประมาณฐานศูนย์" (Zero-based budgeting) หลังจากมีความชัดเจนว่าการจัดทำงบประมาณลักษณะนี้ ได้ถูกบรรจุไว้ในบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ของ 8 พรรคการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล

“สำนักงบประมาณ เตรียมพร้อมที่จะหารือกับรัฐบาลใหม่ เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าการจัดทำ งบประมาณฐานศูนย์ ว่าจะทำในระดับใดได้บ้าง เช่น จัดทำงบประมาณใหม่ทั้งหมด หรืออาจทำเฉพาะงบลงทุน หากทำใหม่ทั้งหมดคาดว่าจะใช้ระยะเวลานาน เพราะต้องมาดูทั้งงบประจำและงบลงทุนด้วย”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : สำนักงบฯ ห่วง นโยบายสวัสดิการรัฐบาลใหม่ ฉุดงบลงทุนต่ำ 20%

 

ภาพประกอบข่าว การพิจารณาจัดทำ "งบประมาณฐานศูนย์" (Zero-based budgeting)

ต้องดูให้ดีหวั่นกระทบงบประจำ 

สำหรับการจัดทำ "งบประมาณฐานศูนย์" นั้น แน่นอนว่าส่วนหนึ่งจะส่งผลกระทบกับการจัดทำงบประจำ ซึ่งมีสัดส่วนสูงที่สุดในกรอบวงเงินงบประมาณ ในเรื่องนี้ ผอ.สำนักงบฯ ยอมรับว่า ในส่วนของงบประมาณประจำก็ต้องมาดูว่าจะจัดสรรเงินเดือน ค่าจ้าง ให้กับบุคลากรภาครัฐ รวมทั้งอัตราบุคลากรภาครัฐใหม่ที่มีเพิ่มขึ้นว่า มีความเหมาะสมจำเป็นหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องดูอย่างละเอียด เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาภายหลังเพราะรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นทุกปี 

ส่วนจะมีการรื้องบประมาณใหม่หรือไม่นั้น มองว่า ไม่ได้มีความกังวล เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่จะต้องเข้ามาดูงบประมาณให้สอดคล้องกับนโยบายอยู่แล้ว โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่ายปี 2567 หรือไม่ ขณะที่สำนักงบประมาณเองก็พร้อมดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวงเงินงบประมาณที่มีอยู่

 

ภาพประกอบข่าว การพิจารณาจัดทำ "งบประมาณฐานศูนย์" (Zero-based budgeting)

บางส่วนก็ทำลักษณะคล้ายกัน

นายเฉลิมพล ยอมรับว่า ในการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ นั้น ที่ผ่านมาก็มีบางส่วนที่ทำในลักษณะใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะรายจ่ายงบลงทุน ซึ่งมีเกณฑ์ในการจัดทำงบประมาณ โดยทบทวนเป้าหมาย ตัวชี้วัด ผลผลิต กิจกรรมที่มีผลสัมฤทธิ์ ความสอดคล้องกับแผนงาน นโยบาย และยุทธศาสตร์ชาติ แล้วกำหนดเป็นงบประมาณที่จัดสรรให้กับหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งคล้าย ๆ กับการทำงบประมาณฐานศูนย์ ซึ่งสำนักงบประมาณจะรายงานให้รัฐบาลใหม่รับทราบ

ก่อนหน้านี้ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยอมรับว่า ในการงบประมาณฐานศูนย์ สศช. ต้องไปหารือร่วมกับ 4 หน่วยงาน คือ สศช. กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ได้ข้อสรุปก่อนว่าดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน

เบื้องต้น สศช. มองว่า การจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ เป็นแนวคิดที่แตกต่างจากเดิม ดังนั้นหน่วยงานต่าง ๆ จึงต้องมาหารือ และเร่งศึกษาข้อมูลรองรับการดำเนินการดังกล่าว โดยถ้าต้องทำจริงตามนโยบายของรัฐบาลใหม่ ก็อาจต้องเริ่มทำในปีงบประมาณ 2568-2569 

ส่วนในงบประมาณปี 2567 ตอนนี้การจัดทำร่างงบประมาณได้ทำเสร็จสิ้นแล้ว แต่การบังคับจะล่าช้าออกไป ดังนั้นจึงต้องเร่งมือทำให้เสร็จโดยเร็ว เพื่ออัดฉีดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ