“กนอ” ลุยรีแบรนด์ จ่อผุด 17 นิคมฯใหม่ รับลงทุนทะลัก

30 พ.ค. 2566 | 10:31 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2566 | 10:31 น.

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีภารกิจหลักในการจัดหาที่ดินและพัฒนาเพื่อจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม ในรูปแบบการร่วมทุนและร่วมดำเนินงานที่สามารถรองรับการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการที่เป็นเป้าหมายของประเทศ

ล่าสุด กนอ. ได้เดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ ด้วยการสร้างตราสัญลักษณ์รอง “I-EA-T Elevation” หรือรีแบรนด์ ผ่านเครื่องหมาย “Infinity” 3 คู่ เชื่อมโยง 3 ส่วน ภายใต้คอนเซปต์ พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ “วีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการ กนอ.ถึงเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ในการรีแบรนด์ครั้งสำคัญ

รีแบรนด์ปรับลุคใหม่
วีริศ กล่าวว่า กนอ.จำเป็นต้องเร่งปรับตัวและเพิ่มสมรรถนะของตนเองให้เข้มแข็ง เพื่อก้าวให้ทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมของโลกได้อย่างทันท่วงที เพื่อนำพาภาคีเครือข่ายและผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทยให้ก้าวเข้าสู่สากลอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน
 

ทั้งนี้ กนอ. จึงได้ปรับแนวคิด วิธีการทำงาน ปรับโฉมการให้บริการ รวมถึงภาพลักษณ์องค์กรให้มีความทันสมัยและเป็นสากลยิ่งขึ้น โดยได้ร่วมกับคณะที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาการปรับภาพลักษณ์ของกนอ. พร้อมกับออกแบบตราสัญลักษณ์รองอย่างเป็นทางการเพื่อใช้ในการสื่อสาร และงานประชาสัมพันธ์ของกนอ. ในระดับชาติ และนานาชาติ

“กนอ.จะปรับใช้ตราสัญลักษณ์รองเพื่อสื่อสารถึงความเป็นองค์กรที่ทันสมัยของกนอ. มากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ยังยึดถือและคงมั่นไว้อยู่เสมอ คือ การให้ความสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และการดูแลชุมชนอย่างเข้าถึงและเข้าใจ ซึ่งปรากฏและสื่อความหมายอย่างชัดเจนในตราสัญลักษณ์รองครั้งนี้”

สำหรับตราสัญลักษณ์นี้ ได้ผ่านการโหวตคัดเลือกจากทั้งบุคลากรของ กนอ. และผู้พัฒนาอุตสาหกรรมรวมกว่า 400 คน โดย กนอ. จะเริ่มใช้ตราสัญลักษณ์รองตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยตราสัญลักษณ์ กนอ. ยังคงรูปแบบเดิม คือ ฟันเฟือง 6 แฉก และสีม่วงที่เป็นสัญลักษณ์ของอุตสาหกรรม แต่ในตราสัญลักษณ์รองมีการใช้เครื่องหมาย Infinity 3 ตัวมาร้อยเรียงกัน สื่อถึงการดำเนินภารกิจหลักของ กนอ. ใน 3 มิติ ได้แก่ การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การดูแลชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการจะสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน จะต้องสร้างทั้ง 3 ด้านนี้ไปด้วยกัน นอกจากนี้ตรงกลางของสัญลักษณ์รอง Infinity จะเห็นตัว S ที่มาจากคำว่า Sustainable โดยในตัว S นั้น แบ่งเป็น 2 สี คือ สีเขียวที่หมายถึงสิ่งแวดล้อม และสีส้มที่หมายถึงชุมชน

กนอ ลุยรีแบรนด์ จ่อผุด 17 นิคมฯใหม่ รับลงทุนทะลัก

จ่อตั้งนิคมฯเพิ่ม 17 แห่ง
 

วีริศ กล่าวอีกว่า ล่าสุดมีนิคมอุตสาหกรรมที่กนอ.ดำเนินการเอง และจะร่วมดำเนินงานกับภาคเอกชนทั้งในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมเดิม และนิคมอุตสาหกรรมที่จะเปิดตัวใหม่ ประมาณ 17 นิคมฯ ที่รอผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กนอ. ซึ่งโดยส่วนใหญ่อยู่ในแถบภาคตะวันออก และอยู่ระหว่างการดำเนินการเรื่องการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และการทำเอกสารเตรียมขอญาตจัดตั้ง คาดจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 ปีนี้

ส่วนภาพรวมของกนอ. เวลานี้ ประกอบด้วย 68 นิคมอุตสาหกรรม(ในกำกับดูแลของกนอ.และร่วมดำเนินงานกับภาคเอกชน) 1 ท่าเรืออุตสาหกรรม มีพื้นที่ทั้งหมด 190,150 ไร่ , โรงงาน 4,963 โรงงาน , เงินลงทุนสะสม 8.30 ล้านล้านบาท และมีแรงงานในนิคมฯ 917,414 คน โดยที่การดำเนินการล่าสุดในแต่ละภาคส่วนมีความคืบหน้าไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 คืบหน้าไปกว่า 49.85% ส่วนโครงการนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) คืบหน้า 56.09%

ด้านการบริหารจัดการนํ้าในโครงการสร้างเขื่อนป้องกันนํ้าท่วมนิคมฯในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้แล้วเสร็จ 100% รวมถึงกำลังเร่งสร้างเขื่อนป้องกันนํ้าท่วมนิคมฯบางปู อีกทั้งจะมีการเพิ่มแหล่งนํ้าสำรอง 3.01 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากนี้ ยังมีโครงการสกัดนํ้าทะเลเป็นนํ้าจืด โดยอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางแต่ด้วยต้นทุนที่ยังสูง จึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยนํ้าจืดที่ได้ต้องมีประสิทธิภาพสามารถดื่มกินได้ ขณะที่ผลิตภัณฑ์อื่นที่ได้ระหว่างการกลั่น อาทิ เกลือ ต้องมีแผนใช้ประโยชน์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการลงทุนทั้งระบบ

ครึ่งทางยอดขาย/เช่า 3.4 พันไร่
 

สำหรับ ยอดขาย/เช่าพื้นที่ในนิคมฯครึ่งปีงบประมาณ 2566 ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 3,458 ไร่ เป็นการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากในปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 2,016 ไร่ และปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 1,222 ไร่ เชื่อว่าแนวโน้มการลงทุนในครึ่งหลังของปีนี้จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
 ผู้ว่าการ กนอ. ให้ความเห็นถึง สถานการณ์การเมืองในประเทศที่เวลานี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน มองว่าจะ ไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนระยะยาว เห็นได้จากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่ไทยเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ แต่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมยังเดินหน้าต่อเนื่อง อย่างมีเสถียรภาพและมีความแข็งแกร่ง