EV ไทยเบอร์หนึ่งอาเซียน แห่ขอรับส่งเสริม 1.5 แสนล้าน

08 มิ.ย. 2566 | 09:50 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มิ.ย. 2566 | 10:03 น.

ลงทุนรถอีวี-ชิ้นส่วนคึกคัก บีโอไอเผยขอรับส่งเสริมแล้ว 80 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 1.15 แสนล้าน ค่ายจีน ญี่ปุ่น ยุโรป ไต้หวันแห่ปักฐานรับทิศทางตลาดโตหนุนฮับภูมิภาค สถาบันยานยนต์เทียบศักยภาพย่านอาเซียน ไทยยังแรงสุด แต่ไม่ประมาทอินโดนีเซียตลาดในประเทศใหญ่สุด

นโยบายส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า(EV)ของภูมิภาค และแห่งหนึ่งของโลก โดยรัฐบาลมีสิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมที่ดึงดูดใจมากมายทั้งในส่วนของผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตและประชาชนที่เป็นผู้ซื้อ ส่งผลให้ตลาดมีความคึกคักมากขึ้นตามลำดับ ข้อมูลจากสถาบันยานยนต์ระบุช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ มีรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนแล้ว 19,347 คัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 1,036% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงผู้บริโภคมีความตื่นตัวต่อยานยนต์สมัยใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปัจจุบันบีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนสำคัญ และสถานีชาร์จแล้วรวม 80 โครงการ จาก 62 บริษัท มูลค่าเงินลงทุน 115,320 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นโครงการส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่(BEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฮบริด  (HEV) รวม 26 โครงการ จาก 17 บริษัท มูลค่าเงินลงทุน 86,800 ล้านบาท เป็นการลงทุนทั้งจากค่ายรถยนต์จากจีน ญี่ปุ่น ยุโรป และไต้หวัน

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

ในจำนวนนี้เป็นการผลิตรถยนต์ BEV จำนวน 15 โครงการ จาก 14 บริษัท กำลังผลิตรวม 270,000 คัน โดยขณะนี้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทออกสู่ตลาดแล้ว 11 บริษัท ทั้งนี้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ๆ ได้ทยอยเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นบริษัท MG, Great Wall Motor, BYD, NETA, Foxconn ที่จับมือกับ ปตท. รวมทั้งรายล่าสุดที่ได้หารือกับบีโอไอ และได้ประกาศแผนการลงทุนในไทยแล้วคือ Changan Automobile และ GAC AION รวมทั้งที่บีโอไอได้มีการหารือกับบริษัทรถยนต์บางราย และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าของเกาหลี ซึ่งมีโอกาสที่จะพัฒนาความร่วมมือระหว่างสองประเทศเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าต่อไปด้วย

EV ไทยเบอร์หนึ่งอาเซียน แห่ขอรับส่งเสริม 1.5 แสนล้าน

 ด้าน ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ได้เปรียบเทียบศักยภาพด้านการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศในภูมิภาคอาเซียนว่า แต่ละประเทศมีจุดแข็ง-จุดอ่อนที่แตกต่างกันออกไป ปัจจุบันอินโดนีเซีย และเวียดนาม ถือเป็นคู่แข่งสำคัญในการลงทุนเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยอินโดนีเซีย ใช้จุดแข็งด้านแร่นิกเกิลที่เป็นวัตถุดิบหลักตัวหนึ่งของการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า โดยอินโดนีเซียมีการผลิตแร่นิกเกิลสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 คิดเป็นสัดส่วน 22% ของการผลิตทั้งหมดในโลก และอินโดนีเซียก็มีตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ ที่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้ดี

ส่วนเวียดนาม ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ มีเศรษฐกิจที่เติบโตเร็ว มีความตกลงการค้าเสรี (FTA)ในระดับทวิภาคี และระดับภูมิภาคกับหลายประเทศ มีต้นทุนค่าแรงงานตํ่ากว่าไทย โดยในส่วนยานยนต์ไฟฟ้าได้ใช้รถยนต์ VinFast ที่เป็นแบรนด์รถยนต์ของเวียดนามนำการลงทุน และขับเคลื่อนการเป็นผู้นำ แต่ล่าสุดการเริ่มต้นการทำตลาดโดยเปิดตัวการขายในสหรัฐอเมริกายังสะดุด ขณะที่เวียดนามยังไม่มีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในห่วงโซ่อุปทานในประเทศที่เพียงพอ จึงต้องนำเข้าชิ้นส่วนจำนวนมากจากต่างประเทศ

เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์

สำหรับประเทศไทย เป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่เข้มแข็ง มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง จากมีผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ในห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแรง มีผลิตภาพการผลิตดี (Productivity) มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในการผลิต บุคลากรมีทักษะสูง ทำให้รถยนต์ที่ผลิตในไทยได้รับการยอมรับและมีภาพลักษณ์ที่ดี ด้านการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลมีนโยบาย และการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน พร้อมแนวทางการขับเคลื่อน ทั้งมาตรการดึงดูดการลงทุน

ที่สำคัญยังมีมาตรการด้านการส่งเสริมการใช้ในประเทศเพื่อสร้างฐานตลาด เพื่อให้เกิด Economy of Scale สร้างความมั่นใจและดึงดูดให้เกิดการลงทุนในประเทศได้ดี นอกจากนี้ไทยยังมีการเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์สมัยใหม่ เช่น การพัฒนาผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาบุคลากร การส่งเสริมเทคโนโลยี นวัตกรรม การเตรียมความพร้อมด้านการทดสอบ และการวิจัยและพัฒนาต่างๆ ฯลฯ ทำให้ ปัจจุบันไทยประสบความสำเร็จสามารถดึงดูดนักลงทุนมาขยายการลงทุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญได้

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3894 วันที่ 8 -10 มิถุนายน พ.ศ. 2566