นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยในการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (สรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ) โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต ว่า การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาของโครงการในทุกด้านทั้งวิศวกรรม การเงินและเศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเชิญกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ทั้งหน่วยงานราชการ หน่วยงานภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่โครงการ เข้าร่วมประชุมด้วย
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีการจัดประชุมเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 หลังจากนั้นภายใน 6 เดือน กทพ.พยายามเร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ เพื่อรองรับงาน Specialised Expo ในปี 2571 ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้จังหวัดภูเก็ต
"ปัจจุบันโครงการฯได้ข้อสรุปแล้ว แต่ทุกข้อสรุปย่อมมีข้อบกพร่อง จึงมีความจำเป็นที่ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็น เพื่ออุดข้อบกพร่องในทุกเรื่อง หลังจากนี้จะสรุปการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ของโครงการฯ ก่อนเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป"
รายงานข่าวจากบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า กทพ.ได้ว่างจ้างบริษัททีาปรึกษาฯ ประกอบด้วย บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด,บริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด และบริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เริ่มศึกษาตั้งแต่ 1 เมษายน 2565- 24 มิถุนายน 2566 ระยะเวลา 450 วัน
ทั้งนี้โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต มีมูลค่าลงทุนประมาณ 45,300 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประมาณ 22,750 ล้านบาท และค่าก่อสร้างโครงการ (รวมค่าควบคุมงาน) ประมาณ 22,550 ล้านบาท คาดว่าจะขออนุมัติโครงการในปี 2566-2567 และออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินภายในปี 2567-2569 โดยจะเริ่มก่อสร้างโครงการฯ ในปี 2568 ถึงปี 2570 และเปิดให้บริการในปี 2571
รายงานข่าวจากบริษัทที่ปรึกษาของโครงการฯ กล่าวต่อว่า จากการศึกษาโครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต ด้านผลตอบทางการเงินและเศรษฐกิจ พบว่า มีความเหมาะสมคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ร้อยละ 24.63 และมีอัตราผลตอบแทน ทางการเงินของโครงการ (FIRR) ร้อยละ 1.53
ส่วนการก่อสร้างของโครงการฯ เป็นทางพิเศษที่มีการควบคุมการเข้าออกเต็มรูปแบบ (Full Control of Access) โดยการกั้นรั้วและให้เข้า-ออกทางหลักของโครงการได้เฉพาะจุดที่กำหนด โดยออกแบบเป็นทางพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร ช่องจราจรละ 3.50 เมตร เกาะกลาง 16.20 เมตร รองรับการขยายช่องจราจรในอนาคต ไหล่ทางด้านใน 1.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอก 2.50 เมตร
ขณะเดียวกันรูปแบบโครงการฯเป็นทางพิเศษที่มีการควบคุมการเข้าออก จึงจำเป็นต้องมีการออกแบบทางบริการฝั่งละ 2 ช่องจราจรแบบวิ่งสวนทิศทางจราจรตามความเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถสัญจรได้ตามเดิม โดยไม่ถูกทางพิเศษปิดกั้น
นอกจากนี้ช่วงแนวเส้นทางในการต่อขยายเข้าสู่กะทู้และเชื่อมต่อกับทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง แนวเส้นทางผ่านพื้นที่เขากมลาซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขาสูงชัน จึงออกแบบเป็นอุโมงค์คู่ อุโมงค์ละ 2 ช่องจราจร และช่วงแนวเส้นทางที่ผ่านพื้นที่เมืองกะทู้จะออกแบบเป็นทางพิเศษยกระดับขนาด 4 ช่องจราจรมีแนวเส้นทางอยู่บนถนนเดิม
ทั้งนี้โครงการได้มีการกำหนดรูปแบบทางแยกต่างระดับ และรูปแบบทางขึ้น-ลงของโครงการ ไว้ทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ 1.ทางแยกต่างระดับเมืองใหม่ 2.ทางแยกต่างระดับบ้านดอน 3.ทางแยกต่างระดับม่าหนิก 1 4.ทางแยกต่างระดับม่าหนิก 2 5.ทางแยกต่างระดับบางคู 6. ทางขึ้น-ลง วิชิตสงคราม และ7.ทางเชื่อมต่อโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง
รายงานข่าวจากบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวต่อว่า ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษของโครงการ มีทั้งหมด 6 ด่าน โดยแต่ละด่านเก็บค่าผ่านทางมีช่องเก็บค่าผ่านทางในทิศทางเข้าสู่โครงการเป็นช่องทางแบบ Multilane Free Flow (M-FLOW) ขนาด 2 ช่อง ซึ่งสามารถผ่านได้โดยไม่ต้องหยุดหรือชะลอรถ ส่วนทิศทางขาออกจากโครงการมีช่องเก็บค่าผ่านทาง 6 ช่อง โดยเป็นช่องเก็บค่าผ่านทางแบบ M-FLOW 2 ช่อง และแบบ Easy pass หรือระบบเก็บเงินสด 4 ช่อง มีตำแหน่ง ดังนี้
1 ด่านเมืองใหม่ ตั้งอยู่ที่ กม.2+900 รองรับการจราจรเข้า-ออกจากทางแยกต่างระดับเมืองใหม่
2 ด่านบ้านดอน 1 ตั้งอยู่ที่ กม. 8+700 รองรับการจราจรจากทางแยกต่างระดับบ้านดอน (ทิศทางไปสนามบินภูเก็ต)
3 ด่านบ้านดอน 2 ตั้งอยู่ที่ กม.9+550 รองรับการจราจรจากทางแยกต่างระดับบ้านดอน (ทิศทางไปเมืองภูเก็ต)
4 ด่านม่าหนิก 1 ตั้งอยู่ที่ กม.14+800 รองรับปริมาณจราจรจากทางแยกต่างระดับม่าหนิก 1
5 ด่านบางคู ตั้งอยู่ที่ กม. 1+600 (ทางร่วมบรรจบ) รองรับปริมาณจราจรจากทางแยกต่างระดับบางคู
6 ด่านม่าหนิก 2 ตั้งอยู่ที่ กม. 16+800 รองรับปริมาณจราจรจากทางขึ้น-ลงกะทู้ และทางแยกต่างระดับม่าหนิก 2
ด้านระบบจัดเก็บค่าผ่านทางของโครงการเป็นระบบปิด มีการจัดเก็บค่าผ่านทางตามระยะทางและตามประเภทรถ หลังจากปีเปิดบริการ (ปีงบประมาณ 2571) อัตราค่าผ่านทางจะถูกปรับขึ้นทุก ๆ 5 ปี ตามอัตราเงินเฟ้อ โครงสร้างอัตราค่าผ่านทาง ราคา ณ ปีเปิดบริการ ประกอบด้วย อัตราค่าผ่านทางแรกเข้า 40/ 80/ 120 บาทต่อคัน สำหรับรถ 4 ล้อ/ 6-10 ล้อ/ มากกว่า 10 ล้อ และอัตราค่าผ่านทางต่อระยะทาง 1.50/ 3.00/ 4.50 บาทต่อกม. สำหรับรถ 4 ล้อ/ 6-10 ล้อ/ มากกว่า 10 ล้อ
แนวเส้นทางโครงการช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว ได้นำแนวเส้นทางโครงการตามการออกแบบเดิมของกรมทางหลวงมาดำเนินการออกแบบกรอบรายละเอียด โดยแนวเส้นทางโครงการเริ่มต้นที่ กม.0+000 บริเวณ ทางหลวงหมายเลข 4026 ห่างจากแยกทางหลวงหมายเลข 402 และทางหลวงหมายเลข 4026 ประมาณ 850 เมตร
จากนั้นเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 4026 ในลักษณะทางแยกต่างระดับ (ทางแยกต่างระดับเมืองใหม่) ก่อนจะมุ่งลงทิศใต้ ยกระดับเป็นสะพานข้ามทางหลวงหมายเลข 4031 บริเวณ กม.4+450 ผ่านทางหลวงหมายเลข 4030 บริเวณ กม.9+150 เชื่อมต่อเป็นทางแยกต่างระดับ (ทางแยกต่างระดับบ้านดอน) แล้วจึงตัดผ่านเป็นสะพานยกระดับข้ามถนนทางหลวงชนบท ภก.4015 บริเวณ กม.13+050
ก่อนจะถึงบริเวณ กม.14+450 เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 4025 เป็นทางแยกต่างระดับ (ทางแยกต่างระดับม่าหนิก 1) ที่บริเวณ กม.16+100 แนวเส้นทางจะบรรจบกับทางร่วมบรรจบไปเกาะแก้ว (Spur Line) เชื่อมต่อเป็นทางแยกต่างระดับ (ทางแยกต่างระดับม่าหนิก 2) ที่บริเวณ Premiem Outlet
นอกจากนี้แนวเส้นทางจะเข้าสู่พื้นที่เทือกเขากมลาในลักษณะอุโมงค์ ที่ กม.17+415 - กม.19+165 โดยแนวเส้นทางจะมุ่งลงใต้ ยกระดับข้ามถนนทางหลวงชนบท ภก.3030 บริเวณ กม.19+600 และจะยกระดับบนถนนวิชิตสงครามบริเวณ กม.21+400 - กม.22+000 แนวเส้นทางมุ่งทิศใต้ข้ามทางหลวงหมายเลข 4029 แล้วจึงเข้าบรรจบกับโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง สิ้นสุดแนวเส้นทางที่ กม.24+447 ระยะทางรวมทั้งหมด 30 กิโลเมตร