นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคชาวจีนมีความต้องการในการดูแลผิวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทลดฝ้า กระ และไวท์เทนนิ่ง และจากรายงานแนวโน้มตลาดไวท์เทนนิ่งปี 2565 ที่เผยแพร่โดย แอพพลิเคชั่น Meilixiuxing ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่ให้บริการด้านการดูแลผิวและการตัดสินใจซื้อเครื่องสำอาง
ระบุว่า จากการสำรวจแบบสอบถามกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,240 คน มากกว่า90% ต้องการผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่ง ซึ่งตั้งแต่ปี 2563 ผู้บริโภคชาวจีนสนใจผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่งเพิ่มขึ้นถึง 82%
และ iResearch ระบุว่า ปี 2564 มูลค่าตลาดเอสเซนส์ไวท์เทนนิ่งของจีนสูงถึง 28,510 ล้านหยวน (ประมาณ 137,500 ล้านบาท) และคาดการณ์ว่าปี 2565-2567 จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง 12.7% ต่อปี และจะขยายตัวเกินกว่า 35,000 ล้านหยวน (ประมาณ 168,800 ล้านบาท) ภายในปี 2567
“ผิวของชาวเอเชียมีผิวชั้นนอกบางกว่าชาวยุโรป มีเกราะป้องกันเซลล์ผิวที่อ่อนแอกว่า และผิวของชาวเอเชียยังอ่อนแอต่อสิ่งกระตุ้นภายนอกและอาจส่งผลต่อสุขภาพผิวอีกด้วย ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่งที่มี ไม่ระคายเคือง และมีประสิทธิภาพดี จะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวจีนในการซื้อผลิตภัณฑ์ โดยส่วนผสมไวท์เทนนิ่งที่ได้รับความนิยมในตลาดจีน เช่น กรดผลไม้/กรดซาลิไซลิก วิตามินซี และไนอะซินาไมด์ (Niacinamide) ที่ผู้บริโภคจีนให้การยอมรับในประสิทธิภาพและคุ้นเคยมาก”
ขณะนี้ผลิตภัณฑ์สกินแคร์ไวท์เทนนิ่งที่จำหน่ายในตลาดจีน แบรนด์ต่างชาติที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เช่น Clinique, Elizabeth Arden, Kiehl's จากสหรัฐอเมริกา Dr.Ci:Labo, SK-II จากญี่ปุ่น และ CLARINS จากฝรั่งเศส ส่วนผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่งของไทยที่เข้ามาจำหน่ายในตลาดจีน เช่น สเปรย์ฉีดกันแดดไวท์เทนนิ่ง Mistine ครีมไข่มุก Promina และครีมบำรุงผิวร่างกาย Nakiz เป็นต้น
สำหรับตลาดไวท์เทนนิ่งจีนมีกลุ่มเป้าหมายเน้นไปที่กลุ่มคน GEN Z คนทำงานในเมือง และผู้บริโภคชายที่มีอายุ 25 - 34 ปี ก็เพิ่มความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและสนใจในผลิตภัณฑ์ไวท์เทนนิ่ง ทำให้กลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้น อาจกลายเป็นตลาด Blue Ocean แห่งใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์ดูแลผิว นอกจากการใช้ผลิตภัณฑ์บนใบหน้าแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการใช้ไวท์เทนนิ่งตามร่างกายทั้งตัว เช่น ผิวกาย มือ ฟัน เป็นต้น ทำให้มีการพัฒนาในตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง
โดยผลิตภัณฑ์สกินแคร์ไวท์เทนนิ่งยอดนิยมที่จำหน่ายในตลาดจีน 48.1% ราคาอยู่ในช่วงราคาที่ต่ำกว่า 200 หยวน (ประมาณ 960 บาท) และ 3% ราคามากกว่า 2,000 หยวน(ประมาณ 9,600 บาท) ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2563 ผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์ที่มีราคา 500-999 หยวน (ประมาณ 2,400-4,800 บาท) ขยายตัวเกือบสองเท่า เพิ่มขึ้นจาก10.2% เป็น19.6% เห็นว่าผลิตภัณฑ์ที่เข้าสู่ในตลาดระดับไฮเอนด์ยังมีจำนวนค่อนข้างน้อย เป็นโอกาสที่แบรนด์ต่างๆ จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดในอนาคต