“สุราก้าวหน้า” ดันเศรษฐกิจฐานราก จี้ลดภาษีสร้างแต้มต่อรายย่อย

16 มิ.ย. 2566 | 23:00 น.
อัพเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2566 | 23:16 น.

“ก้าวไกล” เดินหน้าสุราก้าวหน้า เตรียมเสนอ ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ฉบับใหม่เข้าสู่สภาฯ หลังถกผู้ประกอบการได้ข้อยุติ จ่อปลดล็อกโฆษณา-ขายออนไลน์ ด้านสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชี้ “สุราเสรี” โอกาสของทุนท้องถิ่น จับตา “จีน-อินเดีย” บุกตลาดน้ำเมาไทย

สุรา”หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทถูกมองว่า ผูกขาดอยู่กับทุนรายใหญ่ทั้งตลาดรวมไปถึงสายการผลิตสุราก้าวหน้า หรือ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สุราก้าวหน้าของพรรคก้าวไกลที่ประกาศนโยบายไว้ตั้งแต่หาเสียงจนชนะเลือกตั้ง จึงเป็นเงื่อนไขที่จะเปิดให้การขออนุญาตผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กระจายถึงผู้ประกอบการขนาดย่อยและเปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถผลิตและจำหน่ายสุราได้อย่างถูกกฎหมาย

ใบอนุญาตเดียวทั้งเหล้า-เบียร์

นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ว่าที่ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกลเปิดเผยถึงความคืบหน้าในการหารือกับผู้ประกอบกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการผลักดันนโยบาย “สุราก้าวหน้า”ว่า เรื่องที่หารือแล้วได้ข้อยุติคือ ใบอนุญาตต้องเป็นใบเดียวทำได้ทุกประเภทของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เหมือนกันทั้งหมด ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็ก ซึ่งเรื่องนี้ทำง่าย ส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาคือ เรื่องภาษี ที่ต้องการลดภาษีให้แต้มต่อกับรายย่อย ซึ่งหาสูตรคำนวณอยู่ว่า จะทำในรูปแบบใด โดยหลักการต้องลดภาษีในส่วนของกำลังการผลิต ซึ่งจะต้องดูในรายละเอียดอีกครั้ง

นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ว่าที่ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล

ประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการให้นํ้าหนักและเร่งให้แก้ไขโดยเร็วคือ ขอให้โฆษณาได้ขอให้แก้ที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งขณะนี้หารือกันว่า จะโฆษณาได้แค่ไหน เนื่องจากผู้ประกอบการรายเล็กไม่สามารถโฆษณาเหล้าได้เลย ในกรณีที่ทำได้ต้องมีวิธีป้องกันบางอย่าง ซึ่งต้องคุยกันในรายละเอียดมากพอสมควร เพราะถ้าเปิดช่องให้โฆษณาได้ ขึ้นเฟซบุ๊กได้ ผลิตเหล้าออกมาแล้วจะทำการตลาดอย่างไร ต้องแก้ทั้งระบบ

ส่วนปัญหาการตลาด ช่องทางขายติดที่พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ เช่นกัน จึงต้องนัดกลุ่มรณรงค์เรื่องสุรามาคุยที่พรรคก้าวไกลอีกครั้งอีกกลุ่มที่ต้องการขาย เสนอให้ยกเลิกพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ แต่ขอให้รอคุยกับอีกฝั่งก่อนเพื่อให้เห็นพ้องกันทุกฝ่าย

“ต้องยอมรับว่าพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ผมมองว่า คุมเข้มเว่อร์เกินไปในเรื่องการโฆษณาการบังคับใช้กฎหมายเว่อร์จัด ห้ามไม่ให้คนธรรมดาโพสต์เฟซบุ๊ก ห้ามขายออนไลน์ คณะกรรมการฯมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายและมีอำนาจออกกฎหมายอีก ตรงนี้แปลกมาก”นายเท่าพิภาพตั้งข้อสังเกต

จ่อเสนอร่างพ.ร.บ.ออกใหม่

สำหรับขั้นตอนหลังจากหารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จ นายเท่าพิภพจะเสนอร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตหรือร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ซึ่งเป็นฉบับของพรรคก้าวไกลที่ร่างออกมาใหม่ เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรที่จะเปิดสมัยประชุมในปลายเดือนกรกฎาคมนี้

“พรรคก้าวไกลกำลังหารือกันว่า จะร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าอีกฉบับหรือไม่ เพราะร่างพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตที่เข้าสภาฯสมัยที่แล้ว เป็นร่างพ.ร.บ.ที่เสนอโดยภาคประชาชน 2 ฉบับ ร่างพ.ร.บ.ฉบับแรกเป็นของกลุ่มที่ต้องการให้ผ่อนคลาย อีกฉบับเป็นของกลุ่มที่อยากให้แน่นขึ้น”นายเท่าพิภพกล่าว

ดังนั้นทางพรรคฯ จึงต้องเชิญทั้ง 2 ฝ่ายมาคุยแล้วทำใหม่ให้เป็นร่างแก้ไขพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือ“สุราก้าวหน้า” จะแก้ไขให้อยู่ในฉบับเดียว เพื่อเป็นตัวหลัก ถ้าผ่านวาระหนึ่งซึ่งเป็นวาระรับหลักการแล้ว จะเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมาหารือรายละเอียดในชั้นกรรมาธิการฯอีกครั้ง

“สุราก้าวหน้า” ดันเศรษฐกิจฐานราก จี้ลดภาษีสร้างแต้มต่อรายย่อย

สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่พรรคก้าวไกล เตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาต่อสภาฯอีกครั้งคือ ผู้ผลิตเพื่อการค้าต้องขออนุญาต แต่ข้อกำหนดกฎกระทรวงต่างๆต้องไม่จำกัดเรื่องปริมาณ คุณภาพ ซึ่งจริงๆ ต้องการให้มีใบอนุญาตใบเดียว ผู้ประกอบการรายใหญ่ รายเล็ก ได้ใบอนุญาตเหมือนกัน

ส่วนร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(ฉบับที่ ..) พ.ศ... ที่กระทรวงสาธารณสุขจัดทำขึ้นและอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชนจะเดินหน้าต่อหรือไม่อยู่ที่การตัดสินใจของรัฐมนตรีสาธารณสุขของรัฐบาลใหม่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ ส่วนตัวมองว่า ถ้ารัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารมีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่ถูกนำมาเข้าสู่วาระการพิจารณาในครม.ชุดใหม่

สธ.เฮียริ่งควบคุมแอลกอฮอล์

ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างเปิดให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ....ระหว่างวันที่ 1-18 มิ.ย. 2566 ซึ่งมีีสาระสำคัญใน 7 ประเด็นคือ

  1. สมควรกำหนดเวลาห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสถานที่หรือบริเวณที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ในกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่
  2. สมควรกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการ เจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบดำเนินงานในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสถานที่หรือบริเวณที่จัดบริการเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ที่จะต้องดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือแจ้งเตือนรวมถึงควบคุมดูแล ห้ามปราม หรือดำเนินการอื่นใด เพื่อไม่ให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกำหนดเวลา ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่
  3. สมควรกำหนดข้อยกเว้นให้ผู้ประกอบการ เจ้าของผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบฯ ที่ได้ดำเนินการตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไม่ต้องรับผิดหรือไม่
  4. สมควรกำหนดให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบหรือควบคุมเท่าที่จำเป็นในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าน่าจะมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย
  5. สมควรกำหนดโทษปรับเป็นพินัยไม่เกินห้าพันบาท สำหรับผู้ฝ่าฝืนที่บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่
  6. สมควรกำหนดโทษปรับเป็นพินัยไม่เกินสามหมื่นบาท สำหรับผู้ประกอบการ เจ้าของ ผู้จัดการหรือผู้รับผิดชอบฯ ที่ไม่ดำเนินการตามวิธีการที่กฎหมาย กำหนดหรือไม่
  7. สมควรกำหนดโทษปรับเป็นพินัยไม่เกินห้าแสนบาท สำหรับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ไม่ ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่มีหนังสือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณา โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือไม่

“สุราเสรี”โอกาสทุนท้องถิ่น

ด้านนายธนากร คุปตจิตต์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยกล่าวว่า นโยบายสุราเสรีจะทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยสุราเสรีจะส่งผลดีต่อกลุ่มสุราแช่ เช่น เบียร์และไวน์ ซึ่งผู้ประกอบการที่ทำเสรีจะไม่ใช่ทำแบบแมส เพราะถ้าทำแบบแมสจะใช้เงินลงทุนสูง ดังนั้นจะเป็นการทำกึ่งพรีเมียม เช่น คราฟท์เบียร์ ที่ต้องพัฒนารสชาติเฉพาะและวางจำหน่าย ณ จุดขาย ถือเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมเบียร์ให้เกิดการพัฒนามีความหลากหลาย ไม่ใช่แข่งขันกับรายใหญ่ที่มุ่งจับตลาดแมส

นายธนากร คุปตจิตต์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย

“การทำตลาดแมสจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง พื้นที่มากเบื้องต้นพบว่ามี 2 กลุ่มทุนใหญ่ที่จ้องจะเข้ามาลงทุนในตลาดนี้คือกลุ่มทุนจากจีนและอินเดีย ขณะที่กลุ่มทุนยุโรปไม่สนใจในตลาดนี้เพราะจะมุ่งไปที่ตลาดสุราสีมากกว่า”

ขณะที่ตลาดไวน์ ควรจะมีการส่งเสริมเช่นเดียวกับรัฐบาลก่อนๆที่ส่งเสริมให้ไวน์เป็นสินค้าโอท็อป เพราะไทยมีศักยภาพในการผลิตไวน์ เพราะอยู่ในโซนร้อน มีผลไม้ตามฤดูกาลมากและผลไม้ในโซนร้อนจะให้ความหวานสูง เหมาะกับการนำไปใช้ผลิตไวน์ และมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นสินค้าของที่ระลึกจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวหรือส่งออกในสเกลที่ไม่ใหญ่นัก

ส่วนในอุตสาหกรรมสุรากลั่น ซึ่งมีทั้งสุราสีและสุราขาว ด้วยกระบวนการที่แตกต่างกัน ทำให้มีข้อกำหนดมากและต้องใช้ต้นทุนสูง หากเปิดเสรี ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนต้องใช้เงินหลายร้อยล้าน ซึ่งโอกาสของนักลงทุนหน้าใหม่ไทยมีน้อย จะกลายเป็นการเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เกิดสถานการณ์เช่นเดียวกับล้งทุเรียน ที่ปัจจุบันมีแต่กลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาทำให้ตลาดปั่นป่วน สุดท้ายแล้วคนไทยจะไม่ได้ประโยชน์

“สิ่งที่ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหญ่ กังวลไม่ใช่อยู่ที่การผลิต แต่อุปสรรคใหญ่คือทำแล้วตลาดอยู่ที่ไหน เมื่อผู้บริโภคจำนวนเท่าเดิม ผลิตมาแล้วจะขายใคร ในเมื่อมีกฎหมายห้ามโฆษณา ห้ามติดสลากบอกรายละเอียดสินค้า จะขายออนไลน์ให้กับลูกค้า (B2C) การเปิดเสรีเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเปิดแล้วบอกไม่ได้ว่าสินค้าเราดีอย่างไร รู้ว่ามีของดีในมือแต่บอกไม่ได้ ขายไม่ได้” นายธนากรกล่าว

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,896 วันที่ 15 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2566