นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อปรับปรุง “ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566” มีผลบังคับใช้ 1 พฤศจิกายน 2566 มุ่งยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูล ที่เกิดจากการประกอบกิจกรรมของโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งสำหรับผู้ก่อกำเนิดของเสีย และ ผู้รับบำบัดกำจัดของเสียให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และปราบปรามการทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างผิดกฎหมาย สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
“นายกฯเชื่อว่าการยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูล ที่เกิดจากการประกอบกิจกรรมของโรงงานอุตสาหกรรมจะมีส่วนสำคัญช่วยให้กำจัดของเสียให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และปราบปรามการทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างผิดกฎหมาย ทั้งนี้ การควบคุมมลพิษเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG model) เพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน” นายอนุชา กล่าว
นายอนุชา กล่าวต่อว่า สำหรับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566” ฉบับปรับปรุงล่าสุด ได้อ้างอิงตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle: PPP) โดยติดตามความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมผู้ผลิตของเสีย ไปจนกว่าของเสียหรือสิ่งปฏิกูลจะถูกกำจัดอย่างถูกต้องจนเสร็จสิ้นกระบวนการ
นอกจากนี้ต้องส่งรายงานประจำปีเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และรายงานประจำเดือนเกี่ยวกับการจัดการวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ ผ่านระบบการรายงานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม iSingle Form ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 และจะมีผลนับถัดจากวันที่ประกาศ
ทั้งนี้มีผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator: WG) 60,638 โรงงานทั่วประเทศ ต้องส่งรายงานประจำปี (สก.3) ภายในวันที่ 1เมษายน ของปีถัดไป ในส่วนของผู้รับบำบัดกำจัดของเสีย (Waste Processor: WP) คือโรงงานลำดับประเภท 101, 105 และ 106 จำนวน 2,500 โรงงานทั่วประเทศ ต้องส่งรายงานประจำเดือนเกี่ยวกับการจัดการวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ซึ่งตามประกาศฉบับนี้ จะต้องมีการรายงานข้อมูลครั้งแรกภายใน 15 กรกฎาคม 2566
อย่างไรก็ตามผู้ฝ่าฝืนไม่ส่งรายงาน หรือส่งล่าช้าจะมีโทษปรับสูงสุด 20,000 บาท รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ขออนุญาตการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง กระทรวงอุตสาหกรรมสามารถเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานได้